ส.อ.ท. ชี้อุตสาหกรรมสต๊อกสินค้าได้แค่ 1-3 เดือน หวั่นลดคนครึ่งปีหลัง

ประธาน ส.อ.ท. เผยห่วงบางอุตสาหกรรม “ถุงมือยาง สินค้าเกษตร” ผลิตสต๊อกสินค้าได้แค่สั้น ๆ 1-3 เดือนเท่านั้น หวั่นวิกฤตเลิกจ้างครึ่งปีหลัง ลุ้นออร์เดอร์หลังส่งออกไทยทรุดตามเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ทั้งอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ทางรอดต้องหันพึ่งตลาดใหม่อย่างกลุ่มเอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดีย และเอเชียตะวันออกกลางเท่านั้น ถึงจะประคองการส่งออกไทยได้ระยะยาว

วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากที่การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ประเมินภาพรวมการส่งออกของไทยช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2566 แล้วว่าเศรษฐกิจโลกค่อนข้างชะลอตัวไม่เป็นไปอย่างที่คาด ซึ่งอาจจะส่งผลให้การส่งออกติดลบเพิ่มขึ้น จากกรอบเดิมที่แย่ที่สุดคือ -1% ถึง 0% และล่าสุดได้ขยายกรอบการติดลบออกไปอีก คืออยู่ที่ -2% ถึง 0% นั่นก็ยังคงมีสาเหตุมาจากประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัว

รวมทั้งภาวะการเงินที่ตึงตัว จากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่ จะยิ่งกดดันภาคธุรกิจและจำกัดการใช้จ่าย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า 25 อุตสาหกรรมในภาคการผลิตของไทย กำลังได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัว ซึ่งในบางอุตสาหกรรมเราลดกำลังการผลิต ลดโอที และอาจไปถึงขั้นการเลิกจ้าง แต่ทุกวันนี้ที่ยังต้องมีการผลิตอยู่ เพื่อรักษาแรงงานไว้ และสต๊อกสินค้าเพื่อรอออร์เดอร์ที่จะส่งออก

ในบางอุตสาหกรรมสามารถสต๊อกสินค้าได้นานถึง 1 ปี ตุนเอาไว้อย่างพวกเหล็ก บางอุตสาหกรรมก็ได้ประมาณ 6 เดือน ซึ่งในระยะเวลาประมาณนี้ยังสามารถพอรับได้ เพราะสินค้าไม่เสียหาย แต่เชื่อว่าต้นปี 2567 ออร์เดอร์ก็จะเริ่มกลับมา เพราะในหลาย ๆ โครงการมันไม่สามารถหยุดดำเนินการได้

แต่บางอุตสาหกรรมที่น่าห่วง อย่างถุงมือยาง พวกกลุ่มสินค้าการเกษตร ที่สต๊อกสินค้าได้ระยะสั้น 1-3 เดือน พวกนี้หวังว่าครึ่งปีหลังจะมีออร์เดอร์เข้ามา แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะสถานการณ์อาจไม่ดีอย่างที่คิด อุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตไว้เองทั้งหมด

“พูดตรง ๆ ว่าการส่งออกในช่วงสั้นไม่มีทางเพิ่มขึ้นได้เร็ว แต่ว่าเราจะสามารถหาตลาดใหม่เพื่อปีหน้าได้ เพราะเรามองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อคงยาวไปถึงปีหน้า”

“เพราะฉะนั้นปีหน้า เอเชียตะวันออกกลาง เอเชียใต้ อินเดีย หรือแถบยูเรเซีย แถวนั้น จะมาช่วยชดเชยตลาดส่งออกของไทยทำให้ดีขึ้น จากที่เห็นเลยว่าเรามีการส่งออกไปอาเซียนอยู่ที่ 25% ของการส่งออกของไทย แต่อาเซียนที่เป็นฐานการผลิตก็ลดลงหมดเลย เพราะตลาดหลักมีปัญหา เพราะฉะนั้น ทางออกคือต้องหาตลาดใหม่”