GPSC ปั๊มพลังงานสะอาด บริษัทไทยรายแรกรายเดียวในอินเดีย

รสยา เธียรวรรณ
รสยา เธียรวรรณ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เป็นโจทย์ที่ท้าทายกับทุกประเทศทั้งโลก ไม่เว้นแม้แต่ “อินเดีย” มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่มีขนาดตลาดมากกว่า 1,400 ล้านคน กำลังเดินหน้าสู่การสร้างพลังงานสะอาด จึงนับได้ว่าเป็นโอกาสอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

อินเดียมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานสะอาดสูงถึง 500 จิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2573 ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 280 GW พร้อมตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 50% เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2613

บริษัทไฟฟ้าในกลุ่ม ปตท. อย่าง “GPSC” นับเป็นบริษัทไทยรายแรกและรายเดียวที่เข้ามาลงทุนด้านพลังงานในอินเดีย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นางรสยา เธียรวรรณ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ถึงโอกาสและความท้าทายของการลงทุนในอินเดีย

ปัจจัยหนุนลงทุนในอินเดีย

ตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดียในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตถึง 6.8% มากกว่าปี 2566 ที่เติบโต 6.1% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปีงบประมาณ 2569 และเพิ่มเป็น 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573

นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังมีนโยบายสนับสนุนด้านธุรกิจ อาทิ FDI ที่ให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้โดยตรง ผ่านมาตรการ Production Linked Incentive (PLI) ที่ยิ่งผลิตมากยิ่งได้ต้นทุนกลับคืนมาก และมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางพลังงานไฮโดรเจน
สีเขียว ที่ช่วยพัฒนาพลังงานสะอาดควบคู่ไปกับการกักเก็บ (energy storage)

ประกอบกับอินเดียมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน เป็นอันดับ 1 ของโลกแซงจีนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกจนถึงปี 2603 และมีการใช้ไฟฟ้าต่อประชากร 1.2 เมกะวัตต์ชั่วโมง เมื่อเทียบกับประชากรโลกที่ 3.4 เมกะวัตต์ชั่วโมง

แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์และอุปทานของอินเดียยังมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต ตลาดอินเดียมีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุน GPSC ในการก้าวสู่ผู้นำตลาดพลังงานหมุนเวียนของไทย

“การลงทุนครั้งนี้ใช้ระยะเวลาตัดสินใจเพียง 5 เดือนเท่านั้น เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสจากปัจจัยด้านประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจ การสนับสนุนของรัฐบาลอินเดีย ตลอดจนพันธมิตรคนสำคัญอย่างนาย Vineet Mittal ประธานอวาด้ากรุ๊ป ที่ทำให้ตัดสินใจเลือกอินเดียเป็นบ้านหลังที่สองของ GPSC”

ในโอกาสมีอุปสรรค

จากรายงานของสำนักข่าว Reuters ระบุว่า อินเดียประกาศขึ้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์เมื่อเมษายน ปี 2565 และภาษีของโซลาร์เซลล์อีก 25% เพื่อลดการนำเข้าจากจีน ซึ่งอยู่ในแผนของนายกรัฐมนตรี นาย Narendra Modi ที่ต้องการให้อินเดียพึ่งพาตนเองมากขึ้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน

ในปี 2564 อินเดียก็ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 5% เป็น 12% ซึ่งเป็นปีที่ GPSC เพิ่งลงทุนไปเมื่อกรกฎาคมปี 2564

ฝ่าความท้าทายในอินเดีย

ช่วงแรกที่เข้ามาเริ่มในอินเดียนั้นราบรื่น แต่ปรากฏว่าพอผ่านไปได้ 6 เดือนก็เกิดปัญหาขึ้น เพราะอินเดียขึ้นภาษีนำเข้า 40% จากเดิมที่ไม่มี ทำให้ต้องวุ่นวายกับการหาเงินทุนและเตรียมสต๊อกสินค้าต่าง ๆ แถมซ้ำด้วยการที่อินเดียประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 5% กลายเป็น 12% เรียกได้ว่าเป็น perfect storm แต่ตอนนี้สถานการณ์ทุกอย่างก็คลี่คลายแล้ว

แต่ก็เป็นที่น่าจับตามองว่าอินเดียจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ในอนาคต เพราะจากรายงานของสำนักข่าว Reuters เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ระบุว่า กระทรวงพลังงานหมุนเวียนของอินเดียมีแผนที่จะพูดคุยกับกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอให้ลดภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จาก 40% ให้เหลือ 20% รวมถึงลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 12% ให้เหลือ 5% เพื่อเพิ่มปริมาณโซลาร์เซลล์ในอินเดียขนานใหญ่ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ต้องดูว่าแผนนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ชิงตลาดไฟสีเขียว 500 GW

ปัจจุบัน GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 42.93% ของบริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (Avaada Energy Private Limited) หรือ AEPL ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนมูลค่า 779 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่ง AEPL เป็นบริษัทในอวาด้ากรุ๊ป (Avaada Group) ที่มีส่วนแบ่งตลาดพลังงานในอินเดียราว 10-15% หรือคิดเป็นกำลังผลิตที่ 7 จิกะวัตต์ ตีคู่กับบริษัทของภาครัฐ

โดยในปี 2569 คาดว่าจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 11 จิกะวัตต์ ทำให้ GRSC จะได้สัดส่วนการผลิตไฟอยู่ประมาณ 3 จิกะวัตต์ สอดรับกับยุทธศาสตร์ของกลุ่มบริษัท ปตท. ที่ตั้งเป้าสร้างการเติบโตด้วยพลังงานสะอาดในปี 2569 ที่ 7 จิกะวัตต์ พร้อมขยับเป้าหมายในปี 2573 มาที่ 15 จิกะวัตต์

ทั้งนี้ การเข้าร่วมทุนกับ AEPL มีส่วนสำคัญต่อการขยายสัดส่วนกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของ GPSC ให้ได้ตามเป้าหมายมากกว่า 50% ในปี 2573 โดยปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 3,629 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 45% ของกำลังการผลิตรวม ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานเพื่อความยั่งยืน

“คาดว่าในอนาคตหากยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในอินเดียราว 10-15% นี้ต่อไปได้ ประกอบกับเป้าหมายของรัฐบาลอินเดียที่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาดที่ 50 จิกะวัตต์ต่อปี จนบรรลุเป้าหมาย 500 จิกะวัตต์ ได้ในปี 2573 จะทำให้ GPSC สามารถมีพลังงานสะอาดอย่างน้อย 5 จิกะวัตต์ต่อปี”

แผนสู่อนาคต

นอกจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้วในอนาคต GPSC ยังตั้งเป้าที่จะขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจใน AEPL ให้ครอบคลุมธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) ภายในปีหน้า รวมถึงในอนาคตอาจจะมีการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวในอินเดีย เพราะตอบโจทย์ในเรื่องต้นทุนการผลิตของไฮโดรเจน

“ต้นทุนส่วนใหญ่ของพลังงานไฮโดรเจนเกือบ 60% มาจากค่าไฟ ทำให้การลงทุนในไทยอาจจะไม่คุ้มค่าเพราะค่าไฟที่ 4.45 บาทต่อหน่วย ขณะที่ค่าไฟของอินเดียอยู่ที่ 1.50 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าไทยเกือบ 3 เท่า”

อันดับ 3 ของอาเซียน

ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตพลังงานสะอาดอยู่ที่ 5 จิกะวัตต์ เมื่อรวมกับการลงทุนใน AEPL ที่ได้ประมาณ 2-3 จิกะวัตต์แล้ว จะพบว่า ปัจจุบันนี้ GPSC ถือว่าเป็นอันดับ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“อย่าลืมว่าการที่เรามีแพสชั่นอยากเป็นอันดับ 3 ทุกคนก็มีเป้าหมายในการเพิ่มจิกะวัตต์เช่นเดียวกัน ดังนั้นเราก็หยุดไม่ได้ที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดและหวังว่าในอนาคตจะยังรักษาตำแหน่งอันดับ 3 นี้ไว้ได้”

เปิดกลยุทธ์ 4S

การที่ GPSC สามารถเติบโตได้นั้นมาจาก 4 กลยุทธ์การเติบโต หรือ 4S ประกอบด้วย S1 คือ Strengthen and Expand the Core ซึ่งเป็นการเสริมความแข็งแกร่งที่พร้อมขยายการให้บริการในธุรกิจหลัก โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต เพื่อรักษาลูกค้าเก่าและสร้างลูกค้าใหม่

ต่อมาคือ S2 คือ Scale-up Green Energy เป็นการเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดเพื่อเพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาด 50% ในปี 2573 และ S3 คือ S-Curve & Batteries เป็นการพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต อาทิ ระบบกักเก็บพลังงาน และ Non-EV mobility

สุดท้ายคือ S4 คือ Shift to Customer-Centric Solutions บริการโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภคให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10% ในปี 2568 และ 35% ในปี 2573 เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2603