เปิดสาเหตุ “ตุลา” ลูกช้างป่าเสียชีวิต

เปิดสาเหตุ

สัตวแพทย์ระบุ “ตุลา” เสียชีวิตจากภาวะบาดเจ็บรุนแรงของกระดูกต้นขาหน้าทั้ง 2 หัก ทำให้เกิดการช็อก

วันที่ 14 สิงหาคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจากนายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ถึงกรณีการเสียชีวิตของลูกช้างป่า “ตุลา”

เบื้องต้นนายสัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒน์ ระบุว่าที่ผ่านมา ลูกช้างป่าพลัดหลง ตุลามีอาการป่วยเนื่องจากยืนหลับ ไม่ยอมล้มตัวลงนอนติดต่อกันหลายวัน จนมีอาการเจ็บและอักเสบบริเวณขาหน้าทั้ง 2 ข้าง รวมถึงขาหลังขวาที่มีการก้าวเดินผิดปกติ จนเริ่มมีอาการทรุดลง ได้มีการระดมทีมสัตวแพทย์จากหลายหน่วยงาน

ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) คลินิกช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และชมรมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ทำการรักษาและอนุบาล “ตุลา” อย่างใกล้ชิด

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2566 เวลา 04.00 น. สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เข้าช่วยเหลือลูกช้างป่าในการพยุงตัวลุกยืน โดยซึ่งก่อนหน้านี้สัตวแพทย์ตรวจพบว่าลูกช้างป่า (ตุลา) มีอาการป่วยด้วยภาวะโรคกระดูกบาง (metabolic bone disease) หลังจากนั้นสัตวแพทย์ได้มีการรักษาโรคกระดูกบางรวมถึงเฝ้าระวังและติดตามอาการของการใช้ขาของลูกช้างป่ามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

โดยพบว่าลูกช้างป่า (ตุลา) มีอาการไม่สามารถลุกยืนได้จากการนอนในเวลากลางคืน จึงได้เข้าช่วยเหลือโดยการใช้เครนยกตัวเข้าช่วยพยุงตัวให้ยืนขึ้น หลังจากนั้นสัตวแพทย์ได้ตรวจร่างกายพบว่า ขาหน้าทั้ง 2 ข้างมีอาการอ่อนแรง บวม ข้อเท้าขาหน้าทั้งสองมีการงอ ไม่ขยับเดิน จึงได้ให้ยาลดปวด ลดอักเสบ และพันขาลดการปวดการอักเสบ โดยตลอดทั้งวัน พบว่าลูกช้างป่า ไม่สามารถใช้ขาช่วยพยุงตัวให้ยืนได้ จึงได้ให้นอนพัก และให้เจ้าหน้าที่ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

และเวลา 18.00 น. ลูกช้างป่า (ตุลา) เริ่มมีอาการหายใจช้าลง ลิ้นเริ่มมีสีซีด มีภาวะหัวใจหยุดเต้น สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่จึงได้เข้าช่วยเหลือปฐมพยาบาลเร่งด่วน โดยการทำ CPR เพื่อกระตุ้นการหายใจ ลูกช้างป่าไม่มีการตอบสนองต่อการช่วยชีวิต และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้น เกิดภาวะบาดเจ็บรุนแรงของกระดูกต้นขาหน้าทั้ง 2 ขาหัก (Humerus Fracture) ทำให้เกิดสภาวะช็อกจากการบาดเจ็บรุนแรงตามมา (Pain Shock)

วันที่ 14 สิงหาคม 2566 เวลา 06.00-09.30 น. นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมกับทีมสัตวแพทย์ชันสูตรเพื่อหาสาเหตุและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางปฏิบัติการเพื่อยืนยันถึงสาเหตุการเสียชีวิต ปรากฏว่าสาเหตุหลักในการเสียชีวิต เกิดจากสภาวะกระดูกบางทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณขาหน้า (ด้านบน) ทั้ง 2 ข้าง พบการสลายของกระดูก ทำให้กระดูกแตกหักละเอียด ผิดรูป

ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการไม่ล้มตัวลงนอน และเล่นกับพี่เลี้ยงตามปกติ อวัยวะภายในร่างกายพบว่า ลำไส้มีความแดงผิดปกติ และสัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างอวัยวะทั้งหมด รวมถึงกระดูก ส่งทางห้องปฏิบัติการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พัฒนาการทางสัตวแพทย์ภาคตะวันออก กรมปศุสัตว์

ช้างป่า “ตุลา” เป็นลูกช้างป่าพลัดหลง ที่ทหารพรานนาวิกโยธิน พบที่บริเวณฐานฯ ทุ่งกร่าง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ขณะนั้นมีอายุประมาณ 1-2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ร่วมกันตั้งชื่อลูกช้างป่าตัวนี้ว่า “เจ้าตุลา” ตามเดือนที่พบเจอ ขณะที่พบลูกช้างมีอาการอ่อนแอ สัตวแพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และได้รับการสนับสนุนน้ำนมช้างจากแม่ช้าง 4 เชือกที่เพิ่งตกลูก จากสวนนงนุชพัทยามาให้ลูกช้างกิน ตลอดจนการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมสัตวแพทย์และทีมพี่เลี้ยง

โดยทีมสัตวแพทย์ได้ตรวจสุขภาพลูกช้างป่า (ตุลา) พบว่าลูกช้างป่า (ตุลา) ป่วยเป็นโรคติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) ทีมสัตวแพทย์จึงได้รักษาโดยการให้ยาต้านไวรัสแบบกิน เพื่อรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จนทำให้ตุลาเริ่มมีสุขภาพแข็งแรง มีสุขภาพดี และเป็นช้างอารมณ์ดีขึ้น ขี้เล่น จนเป็นขวัญใจคนรักสัตว์

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการเคลื่อนย้ายลูกช้างป่า “ตุลา” จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี มายังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) มีพื้นที่ที่เหมาะสม โดยที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการจัดทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ และพี่เลี้ยง ดูแลอาการช้างป่า “ตุลา” อย่างใกล้ชิดมาตลอด นานถึง 10 เดือน