มันสำปะหลังขาด 10 ล้านตัน “เอลนีโญ” ทุบซ้ำวิกฤตชอร์ตซัพพลาย

มันสำปะหลังขาด

ส่งออกมันสำปะหลังปี’66 วิกฤตชอร์ตซัพพลายมันสำปะหลัง 10 ล้านตัน เอลนีโญถล่มซ้ำใบด่าง-น้ำท่วมปี’65 เอกชน 4 สมาคม เบรกรับออร์เดอร์กลัวไม่มีของส่ง ชาวไร่อ่วมต้นทุนแพงค่าท่อนพันธุ์ขึ้น 5 เท่า หันหนีไปปลูก “ข้าวโพด” แทน ล่าสุด จ.นครราชสีมา 2 แสนไร่แปลงเป็นไร่

นายธีระ เอื้ออภิธร นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมส่งออกมันสำปะหลังปี 2566 จะปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก คาดว่าจะส่งออกมันเส้นได้ 3-4 ล้านตันจากปีที่ผ่านมาที่ส่งออกได้ 6 ล้านตัน

เป็นผลจากปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ เพราะผลผลิตปีที่ผ่านมาได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม หัวมันเน่า มีโรคใบด่าง ประกอบกับเจอปัญหาเอลนีโญในปีนี้ ทำให้ปริมาณผลผลิตต่ำกว่าคาดการณ์ 10 ล้านตัน จาก 34 ล้านตันอาจจะเหลือเพียง 24 ล้านตัน

“ผู้ส่งออกไม่กล้ารับออร์เดอร์ กลัวว่าไม่มีสินค้าจัดส่งให้ลูกค้า และสิ่งที่กังวลอีกเรื่องคือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนและปรับแข็งค่าขึ้น จากก่อนหน้า 36 บาท เป็น 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ขายได้ยาก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเศรษฐกิจผู้นำเข้าอยู่ในสภาวะถดถอยด้วย”

นายธีระกล่าวว่า ในวันที่ 26 สิงหาคม 2566 นี้ 4 สมาคมมันสำปะหลัง ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยและสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสรุปผลการติดตามสถานการณ์มันสำปะหลังทั้งหมด

โดยจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผลผลิตมันสำปะหลังในปีนี้อาจจะลดลง คาดว่าผลผลิตทั้งปีไม่เกิน 24 ล้านตัน โดยปีที่ผ่านมาเคยประเมินไว้ที่ 34 ล้านตัน ปัจจัยสำคัญมาจากการได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ประกอบกับปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบทำให้การแพร่ระบาดของโรคและแมลง เช่น โรคใบด่าง ศัตรูที่มาจากธรรมชาติ สร้างความเสียหายให้กับมันสำปะหลังมากขึ้น เพราะภาวะแล้งจะทำให้โรคแพร่กระจายไปได้รวดเร็ว และผลผลิตได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในปีที่ผ่านมาด้วย

โดยปกติผลผลิตมันสำปะหลังจะเริ่มทยอยออก ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม เฉลี่ยเดือนละ 10% และออกมากสุดตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม เฉลี่ย 20% และจะเริ่มปลูกตั้งแต่เมษายนเป็นต้นไป ซึ่งเป็นการเพาะปลูกในภาวะปกติ

ตาราง มันสำปะหลังขาด

แต่เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ฝนตกบ่อยขึ้น ทำให้เกษตรกรมีการปลูกมันสำปะหลังหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตทยอยออกมามาก แต่ปีนี้มีภัยแล้ง ทำให้กังวลว่ามันสำปะหลังที่ปลูกจะเจอปัญหา

และเกษตรกรยังประสบปัญหาขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาด เพราะท่อนมันสำปะหลังที่เตรียมปลูกยังได้รับความเสียหาย อีกทั้งราคาท่อนพันธุ์ปัจจุบันปรับสูงขึ้นเป็น 5 บาทต่อท่อน จากอดีตอยู่ที่ 1 บาทต่อท่อน

ด้วยเหตุนี้เกษตรกรหันไปปลูกข้าวโพดแทน เห็นได้จากตอนนี้ ในพื้นที่นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ปีนี้ลดลงจากปัจจุบัน 1.4 ล้านไร่ เหลือ 1.2 ล้านไร่ หายไปประมาณ 200,000 ไร่ เพื่อไปปลูกข้าวโพดทดแทน และหากดูพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศ ปริมาณลดลงไม่มาก แต่ปัญหาโรคระบาดปัจจุบันกระจายไปทั่วประเทศแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้เกษตรกรมีการขุดมันอ่อนขึ้นมาขายมากขึ้น ซึ่งปกติปลูกต้องใช้เวลา 8-10 เดือนที่จะต้องขุดมันสำปะหลังออกมาขาย แต่ตอนนี้ปลูกแค่ 6 เดือนก็ขุดมาขายแล้ว เนื่องจากราคาหัวมันสดดี เฉลี่ยปัจจุบันทรงตัว 3.00-3.20 บาทต่อกิโลกรัมเชื้อแป้ง 25%

ส่วนมันเส้นราคาเฉลี่ยที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ส่งออกราคาตลาดตอนนี้เฉลี่ยที่ 260-270 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพราะความต้องการสินค้าในตลาดต่างประเทศยังมีสูง โดยเฉพาะตลาดแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์ ทำให้เกษตรกรขุดมาขายมากขึ้น และเชื้อแป้งยังไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่เท่าไร เชื้อแป้งหายไป 4-5% และยังทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก 3.5 ตันต่อไร่ เหลือ 2 ตันต่อไร่ ซึ่งเป็นปัญหาที่เจอในตอนนี้

นายธีระกล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนในอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง โดยส่งเสริมท่อนพันธุ์สะอาดให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งดูแลเรื่องน้ำและแก้ไขปัญหาเรื่องโรค เพื่อช่วยเหลือและลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ส่วนตลาดยังมองว่าไปได้ ผู้ส่งออกเองยังขยายส่งออกไปในกลุ่มอาหารสัตว์เพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่ตลาดส่งออกยังอยู่ในตลาดจีน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สถานการณ์การส่งออกมันสำปะหลังครึ่งปี 2566 มีมูลค่า 68,907 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16% โดยปรับลดลงทุกตลาด เช่น ตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก 66% มีมูลค่า 45,552 ล้านบาท ลดลง 18% (ตามกราฟิก) เป็นผลจากสถานการณ์ผลผลิตได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมปีก่อน