สทนช.เกาะติดแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รุกวางแนวทางประเมินผล หวังขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย

สทนช. รุกวางแนวทางติดตามประเมินผลการดำเนินงานแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หวังจัดทำแผนหลักตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เป็นรูปธรรม ภายในปี 2561 ​
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจง “โครงการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการทรัพยาการน้ำภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ” โดยมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเข้ารับฟังการบรรยายว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการชี้แจงกรอบแนวทางในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายใต้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบแนวทาง ขั้นตอน และวิธีการในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และสามารถให้ความร่วมมือกับ สทนช. เพื่อให้การติดตามประเมินผลบรรลุวัตถุประสงค์
ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศให้นำไปสู่การปฏิบัติและเกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการวางแนวทางในการติดตามและประเมินผล เพื่อเก็บข้อมูลและสะท้อนความสำเร็จของการดำเนินโครงการที่หน่วยงานต่างๆ ได้รับงบประมาณไปดำเนินการภายใต้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำว่า จะเดินไปสู่เป้าหมายด้านการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศได้หรือไม่ ​
ทั้งนี้ สทนช. จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 46/2560มีฐานะเป็นหน่วยงานกลางจะต้องทำหน้าที่ในการบูรณาการข้อมูล แผนงาน งบประมาณ ตลอดจนการติดตาม และประเมินผล และการเข้าไปวางแผนบริหารจัดการน้ำในยามวิกฤติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การที่จะบูรณาการทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน และทำหน้าที่บริหารแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประสบผลสำเร็จ จำเป็นจะต้องมีข้อมูลว่า ตัวชี้วัดทั้งผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ของแผนงานโครงการเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อที่ สทนช.จะได้นำไปทบทวนหรือปรับปรุงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และกลไกการขับเคลื่อนต่างๆ ให้เหมาะสม และช่วยสนับสนุนให้การดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้แผนฯ บรรลุเป้าหมายต่อไป ​
นอกจากนี้ สทนช.จำเป็นต้องมีข้อมูลที่จะนำไปประกอบการพิจารณาให้ความเห็นในการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานนำไปดำเนินโครงการในระยะต่อไปอย่างเหมาะสม ตรงตามสภาพปัญหา ความจำเป็นเร่งด่วนของประชาชน และทิศทางการพัฒนาของประเทศอีกด้วย ​“เมื่อจบแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประเทศไทยต้องมีความมั่นคงในด้านทรัพยากรน้ำ ต้องสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ปัญหาดินโคลนถล่มซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ รวมถึงสามารถจัดให้มีน้ำเพื่อการผลิตอย่างเพียงพอ รองรับทั้งในภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยว และมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการกันได้จริง โดยทาง ครม.ได้มอบหมายให้ สทนช. จัดทำและบูรณาการแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนให้แล้วเสร็จภายในปี 2561”
ดร.สมเกียรติกล่าวย้ำ ​สำหรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558-2569 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งสั้นหรือระยะเร่งด่วน ปี 2558-2559 ระยะกลาง ปี 2560-2564 และระยะยาวปี 2565-2569 ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการในระยะกลางของแผนแล้ว ดังนั้น สทนช. ในฐานะที่ต้องทำหน้าที่บริหารแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่วางไว้คือ สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำให้ประเทศอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำโครงการจ้างที่ปรึกษามีความเป็นมืออาชีพ เข้ามาช่วยดำเนินการศึกษาและประเมินผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยที่แผนยุทธศาสตร์น้ำต้องปรับปรุง/ทบทวนและขยายระยะเวลาครอบคลุม ปี 2579 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องนำแผนปฏิรูปประเทศจากรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และกำหนดเป้าหมายที่เป็นสากลตาม SDG ด้วย”
ด้าน ดร.ไวฑูรย์ โภคาชัยพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะตัวแทนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่ดำเนินการศึกษาและประเมินผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้เป็นกระบวนการของการบริหารจัดการที่ประกอบด้วยการวางแผน (Plan) การนำแผนไปปฏิบัติ (Do) การติดตามผล (Check) และการทบทวน-ปรับปรุง (Action) ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่แสดงความคืบหน้าของผลการดำเนินงานเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ และนำปัญหา อุปสรรค หรือช่องว่าง (Gap) ที่พบมาปรับปรุงการดำเนินงานของแผนยุทธศาสตร์ในระยะต่อไป เพื่อให้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศสามารถแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน