“เวสท์เทค” ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จ่อเซ็นสัญญาซื้อขายไฟกับ กฟภ. เร็วนี้

นายทวันทว์ บุณยะวัฒน์

“เวสท์เทค” หนึ่งในธุรกิจกลุ่มมิลล์คอน ขยายการลงทุนไปสู่โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ต่อยอดธุรกิจกำจัดซากรถยนต์และรีไซเคิลครบวงจร เดินหน้ายกระดับสู่กลุ่มธุรกิจ ESG จ่อเซ็นสัญญาซื้อขายไฟกับ กฟภ. ชูแนวทางบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรม ปูทางนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯปีหน้า

วันที่ 14 กันยายน 2566 นายทวันทว์ บุณยะวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวสท์เทค เอ็กโพเนนเชียล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มมิลล์คอน สตีล เปิดเผยว่า บริษัทได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงาน โดยจับมือกับพันธมิตรในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 2 โครงการ ภายใต้บริษัทร่วมทุน โดยมีขนาด 9.5 เมกะวัตต์ ทั้งสองโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นอกจากนี้ก็มีแผนที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 1 แห่ง ขนาด 9.5 เมกะวัตต์

การที่บริษัทรุกเข้าสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม นอกจากจะเป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจหลักคือ ธุรกิจกำจัดซากรถยนต์และรีไซเคิลครบวงจรแล้ว ยังถือเป็นการยกระดับธุรกิจในกลุ่มให้มีการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, Governance : ESG) นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมองค์กรให้มีความแข็งแกร่งทั้งภาพรวมธุรกิจ และผลประกอบการ เพื่อนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯตามเป้าหมายในปี 2567

โครงสร้างธุรกิจของกลุ่มเวสท์เทค ประกอบด้วย 1.ธุรกิจกำจัดซากรถยนต์เก่า 2.ธุรกิจรีไซเคิลครบวงจร 3.กลุ่มธุรกิจ ESG ในส่วนของธุรกิจกำจัดซากรถยนต์เก่านั้น ได้มีการนำเข้าซากรถยนต์เก่าจากประเทศเกาหลี ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เข้ามาทำลายซากแบบครบวงจร ด้วยกำลังการผลิตสูงที่สุดในประเทศไทย และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศว่ามีประสิทธิภาพในการคัดแยกวัสดุ ก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการหลอม เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ถือเป็นนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

ส่วนธุรกิจรีไซเคิลครบวงจรนั้น บริษัทมีแผนที่จะขยายตลาดทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง จากปัจจุบันบริษัทได้ให้บริการรีไซเคิลขยะอุตสาหกรรม ในอนาคตจะขยายไปสู่การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์

โดยตั้งเป้าหมายเป็นบริษัทชั้นนำธุรกิจรีไซเคิลอย่างครบวงจร ในการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลัก Zero waste ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงมาก ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ ESG Business จะเป็นการลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม และขยะชุมชน รวมถึงกลุ่มพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น