ไทยชง 5 ประเด็น ขอ FAO หนุนสร้างความมั่นคงอาหาร รับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ไทยชง 5 ประเด็นขอ FAO หนุนกระชับความสัมพันธ์แน่นแฟ้น เดินหน้าความร่วมมือ ศูนย์กลางความมั่นคงอาหาร และศูนย์กลางพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติของภูมิภาค เร่งสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรรายย่อย

วันที่ 19 กันยายน 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อนุญาตให้นางเบธ เบค-ดอล (Ms.Beth Bechdol) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of United Nations : FAO) พร้อมด้วยนายจอง จิน คิม (Mr.Jong-Jin Kim) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เข้าเยี่ยมคารวะ ณ ห้อง 112 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหารือในประเด็นความร่วมมือระหว่างไทย และ FAO ร่วมกัน

ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์อาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงาน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด ทั้งความร่วมมือทางวิชาการด้านเกษตร ภายใต้กรอบ Country Programing Framework (CPF) และร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“ประเด็นหารือร่วมกันในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นถึงความสำคัญด้านการเกษตรของประเทศไทย และโครงการพระราชดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 10 ทรงให้ความสำคัญและทรงงานด้านการเกษตรในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของดิน อันเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและภาคการเกษตรไทย รวมถึงประชาคมโลก”

โดยนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คือ การดูแลเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ให้มีความอยู่ดี กินดี มีรายได้อย่างมั่นคง ภาคเกษตรไทยจะต้องเข้มแข็ง เน้นนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เกิดศักยภาพในด้านการผลิต นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการวางแผนมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ตั้งแต่การป้องกัน การแก้ไข และการฟื้นฟู เมื่อประสบเหตุภัยแล้ง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกชนิด

ตลอดจนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ รวมทั้งสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) สนับสนุนการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการตรวจรับรอง GAP และสามารถต่อยอดไปสู่คาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ขอรับการสนับสนุนจากทาง FAO ในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้ 1.การจัดตั้งสำนักงานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม หรือ IFAD (International Fund for Agricultural Development) ประจำประเทศไทย 2.การสร้างแบรนด์สินค้าเกษตร (Branding) ของแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นอัตลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ให้เกษตรกร

3.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) 4.การกระจายสินค้าเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดในแต่ละฤดูกาลได้อย่างเต็มรูปแบบ และ 5.การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ FAO ให้ความสำคัญเช่นกัน และยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทย

นอกจากนี้ รมว.เกษตรฯ ยังได้กล่าวขอบคุณ FAO ที่ให้การสนับสนุนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรองประกาศพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรเป็นแห่งแรก “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” จ.พัทลุง ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการเกษตร เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในชุมชน

นางเบค-ดอล กล่าวว่า ยินดีให้การสนับสนุนในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งการสนับสนุนองค์ความรู้ (Know-How) ต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อย

โอกาสนี้ รองผู้อำนวยการใหญ่ FAO ได้เชิญ รมว.เกษตรฯ เข้าร่วมงาน World Food Forum 2023 (WFF) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี โดยมีกิจกรรมที่สำคัญประกอบด้วย WFF Global Youth Forum, FAO Science and Innovation Forum และ FAO Hand-in-Hand Investment Forum.