ค่าการตลาดน้ำมัน 2 บาท กำไรสูงจริงไหม “ดิษทัต” CEO โออาร์มีคำตอบ

ดิษทัต ปันยารชุน
ดิษทัต ปันยารชุน
สัมภาษณ์พิเศษ

ค่าการตลาดน้ำมัน 2 บาท กำไรสูงจริงไหม ดิษทัต ปันยารชุน ซีอีโอโออาร์มีคำตอบ

หลังจากที่ระดับราคาน้ำมันปรับขึ้น ภาครัฐได้มีการกำหนดแนวนโยบายในการดูแลระดับราคาน้ำมันให้อยู่กรอบที่ไม่กระทบต่อภาระค่าครองชีพ  และมีแนวคิดที่จะเปิดเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป บริหารจัดการกำไรผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองถึงผลที่จะเชื่อมโยงมายังธุรกิจค้าปลีกน้ำมันอย่างไร

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดิษทัต ปันยารชุน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ)  บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ถึงทิศทางธุรกิจหลังจากนี้

ค่าการตลาดแพงไปหรือไม่

น้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งไม่สามารถควบคุมราคาได้ เพราะประเทศไทยนำเข้า 80% ผลิตในประเทศประมาณ 30,000 บาร์เรลต่อวัน และมีกำลังผลิตในประเทศ 1.2 ล้านบาเรลต่อวัน และความต้องการใช้ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไทยจึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น ฉะนั้น ราคาน้ำมันที่นำเข้ามีการปรับขึ้นปรับลงตามกลไกตลาด

“โพซิชั่นโออาร์คือเป็นผู้ซื้อมาขายไป สูตรราคาที่เราซื้อจากโรงกลั่นบนราคาวันนี้ที่ราคาสิงคโปรประกาศ ก็รับซื้อมาบนราคานั้นและเราก็พาสทูมาร์เก็ตติ้งมาร์จิ้น เพราะมีสูตรอยู่แล้ว และบวกค่าการตลาดประมาณ 2 บาทต่อลิตร ซึ่งหากราคาขึ้นเราก็ขึ้นราคาแต่เรามีการปรึกษากับกรมธุรกิจพลังงานทุกครั้ง ไม่สามารถจะขึ้นได้เลยไม่ใช่อยู่ๆ จะไปขึ้น เพราะกระทรวงก็มีการกำกับดูแลเรา เรามีการรรับน้ำมันจากโรงกลั่นทุกวัน ราคาขึ้นก็สะท้อนราคาขึ้น จะปรับขึ้นเท่าไรก็ต้องมีการคำนวณ “

ราคาน้ำมันสิงคโปร์

ปัจจุบันราคาหนึ่งบาร์เรล ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน 35.70-35.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ฉะนั้น 1 บาร์เรลเท่ากับ 22 สตางค์ ถ้าราคาสิงคโปร์ประกาศตอนเย็นๆทุกวัน หากขึ้นที 2-3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดง่ายๆถ้า 2 เหรียญสหรัฐก็เท่ากับกับเทียบเป็นเงินบาท 40 กว่าสตางค์

“เราเป็นคนซื้อมาขายไป ก็ต้องเป็นราคาที่สะท้อนสิ่งที่เราซื้อมา แยกกันกับเรื่องค่าการตลาด ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้จะรักโออาร์มากที่โออาร์ดูแลประเทศไทย”

เหตุผลที่ต้องอ้างอิง “ราคาสิงคโปร์”

เมื่อประเทศไทยเป็นผู้นำเข้า ทำให้ให้ไม่สามารถกำหนดราคาได้ ซึ่งการที่เราอิง ราคาสิงค์โปร์ เพราะว่า การกำหนดราคาต้องโปร่งใส ไม่มีใครกำหนดหรือฮั๊วราคา

สิงค์โปร์ทำไมตั้งราคาอ้างอิงได้ทั้งที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นของตัวเองด้วยซ้ำ คำตอบคือ เพราะ 1) โลจิสติกส์สิงคโปร์ดีมาก เป็นท่าเรือน้ำลึกที่รองรับเรือขนาดใหญ่ ขนน้ำมัน ทีละ 2 ล้านบาร์เรล แต่โครงสร้างท่าเรือน้ำลึกไม่พอ ไทยต้องดึงท่อยืดไป 20 กม.เรือใหญ่ไม่สามารถส่งเข้าท่าได้เลย

2) โลเคชั่นของสิงคโปร์เป็นจุดที่สายเดินเรือผ่าน แต่ของไทยต้องมีการให้เรือมาที่อ่าวไทย การเข้ามาในอ่าวไทยมีต้นทุน แต่สิงคโปร์เป็นทางผ่าน โครงสร้างพื้นฐานแตกต่างกัน และสิงคโปร์มีการอำนวยความสะดวกนักลงทุนในการเข้าไปตั้งบริษัท สร้างระบบสาธาณูปโภครองรับ

ส่งผลทำให้ 3) มีบริษัทผู้ค้าน้ำมันไปตั้งอยู่ในสิงคโปร์จำนวนมากกว่า 200-300 บริษัท ซึ่งเมื่อประเทศที่ผลิตน้ำมันได้จะมีน้ำมันที่เหลืออีก 30% ที่ไม่มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ จึงต้องไปขายที่ตลาดที่มีพ่อค้าจำนวนมาก เหมือนขายผักผลไม้ก็ไปตลาดไทย พอมีการค้าขายเยอะก็เชื่อว่าจะเป็นตลาดที่สมบูรณ์แบบที่สุด จึงต้องไปอิงราคาสิงคโปร์ ซึ่งการที่ไทยจะมากกำหนดราคาเอง ก็กำหนดได้แต่เมื่อไม่มีผู้เล่นก็ไมสามารถทำได้

โออาร์ไม่ใช่ผู้กำหนดราคาตลาด

โดยปกติสิงคโปร์จะประกาศราคาตอนเย็น ซึ่งพอราคาสิงคโปร์ปรับขึ้น ก็ไม่ใช่เราจะปรับขึ้นราคาในทันที แต่เราก็พยายามหน่วงๆเวลาไว้ เพื่อว่าพรุ่งนี้ราคาจะลง ซึ่งจะเป็นการย้ำว่าโออาร์ไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา และเราก็เป็นผู้ซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นแล้วก็ขายให้ในตลาด และค่าการตลาดที่คิดเฉลี่ย 2 บาทต่อลิตร ก็อยู่ในกติกา ซึ่งโดยเฉลี่ยค่าการตลาดของโออาร์ประมาณ 1.60-1.70 บาท

สำหรับกรณีที่ค่าการตลาดของเอกชนแตกต่างจากราคาไกด์ไลน์ในตารางส้มของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานนั้น ต้องอธิบายว่า ราคาของ สนพ.เป็นราคาไกด์ไลน์และใช้สูตรราคาอ้างอิงที่แตกต่างกับทางเอกชนโรงกลั่น  ซึ่งอาจจะมีผลทำให้เกิดความแตกต่างของราคา

ซึ่งบางช่วงเวลา “ความถ่างหรือความแคบ” จะไม่ตรงกันที่เราซื้อขายจริง เพราะเป็น “แมคานิสซึม” ที่เขาให้ไกด์ไลน์ออกมาซึ่งโอกาสที่จะแตกต่างกันมีหลายระดับ   ซึ่งราคาเบนซิน สนพ.จะโชว์สูงคือตั้งแต่ 3.00-3.50 บาท สูงกว่ามาก เบนซิน ส่วนต่างจะอยู่ที่ 1.20-1.30 บาท เคยห่างกันมากถึง 1.60 บาท ส่วนผลต่างดีเซลจะอยู่ที่ 40-70 สตางค์ต่อลิตร หรือเฉลี่ยประมาณ 50 สตางค์  แต่อย่างไรก็ตาม ค่าการตลาดเราอยู่ในกรอบที่รัฐขอความร่วมมือให้อยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร

“สูตรราคาที่ต่างกันไม่ได้มีใครเป็นคนผิด สูตรราคาเราใช้บนพื้นฐานของเราซึ่งเป็นผู้ซื้อน้ำมันจากโรงกลั่น แต่กรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้มอร์นิเตอร์ ซึ่งไม่มีอะไรมาปิดบังได้ และเราเป็นหน่วยเรางานรัฐ เราคงไม่ไปหากำไรเอาส่วนต่างมาโกงประชาชน เราทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าทำเข้าคุก ฉะนั้นเราต้องเมคชัวร์ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในกรอบที่ตกลงกับกระทรวง”

โครงสร้างราคาขายปลีกดีเซล

โครงสร้างราคาขายปลีกโซฮอล์ 95

ทางออกสูตรราคาโออาร์ต่างกับภาครัฐ

ช่วงความห่างของค่าการตลาดสนพ.ที่แตกต่างจากภาคเอกชน จะได้รับการแก้ไขในปีหน้า หลังจากที่ไทยมีการกำหนดให้ใช้มาตรฐาน ยูโร 5 เพราะราคาน้ำมันที่อ้างอิง อย่าง ดีเซล จะมีมาตรฐานเป็น 10 ppm เหมือนกัน ต่อไปโรงกลั่นจะคิดราคาเราเหมือนกัน

“เหตุผลที่พอปรับใช้ยูโร 5 แล้วทำให้ราคาของเอกชนและสนพ.ปรับมาใกล้กันเพราะแต่ก่อนมีมาตรฐานของน้ำมันตัวย่อยๆ หลายตัว แต่ต่อไปจะเหมือนกับ 10 ppm ซึ่งเรากำหนดว่า 1 มกราคม 2567 เรากำหนดว่า น้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องเป็นมาตรฐาน 10 ppm เทียบเท่ายูโร 5 ก็ทำให้เท่ากัน อาจจะมีต่างกันอีกนิด คือจากค่าพรีเมียมที่ต่างกัน “

ดึงกองทุนน้ำมันช่วย

ซึ่งในระหว่างนี้รัฐบาลได้กำหนดให้มีกองทุนน้ำมันเข้ามาช่วย เช่น หากค่าการตลาดเฉลี่ยในวันใดเกินกว่า 2 บาท ทางกองทุนก็จะเรียกเก็บเงินเข้ากองทุน แต่หากวันใดต่ำกว่า 2 บาทก็จะมีการจ่ายชดเชย เพียงแต่ช่วงนี้ต้องชดเชยเยอะเพราะราคาดีเซลในตลาดโลกเป็นขาขึ้น ค่อนข้างแรง

สำหรับโครงสร้างราคาน้ำมัน 1 ลิตร จะประกอบไปด้วยต้นทุนราคาเนื้อน้ำมัน เป็นหลัก 79% ค่าการตลาดประมาณ 4% ส่วนเบนซินก็จะแบ่งเป็น ต้นทุนเนื้อน้ำมันสูง 68% ค่าการตลาดเบนซินประมาณ 6%  ซึ่งในส่วนของค่าการตลาดนี้ไม่ใช่โออาร์ได้ไปเต็มๆ เราต้องไปแบ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นดีลเลอร์เรา

มุมมองเกี่ยวกับการนำเข้าน้ำมันเสรี

“เรื่องค่าการตลาดนี้ ผมมองว่าเป็นคนละเรื่องกับเรื่องการนำเข้าน้ำมันเสรี ที่เราอธิบายเรื่องค่าการตลาด เป็นเพราะว่าเรากังวลว่าประชาชนจะเข้าใจผิดว่าโออาร์ได้ค่าการตลาดมากเกินไป และราคาที่ถืออยู่ เบนซิน ผู้ค้าทุกบริษัทไม่ว่าจะเชล พีที บางจาก โออาร์ ใช้สูตรเดียวกัน แต่สนพ.ก็ใช้สูตรของคู่ค้า”

ส่วนนโยบายนำเข้าน้ำมันเสรีกระทบกับโออาร์หรือไม่นั้น ต้องอธิบายว่าปกติ ตลาดน้ำมันก็เป็นตลาดเสรีอยู่แล้ว ซึ่งยกตัวอย่าง เชลล์ มีโรงกลั่นที่สิงคโปร์ ถ้าราคาที่ขายให้กับเชลล์ในประเทศไทยสูงเกินไป ผมมั่นใจว่า เชลล์ต้องนำเข้าทันที เพราะเขาเป็นผู้ค้า เป็น international business ทั้งยังมีโรงกลั่นที่สิงคโปร์ใกล้มาก เรือมาแค่ 2.5 วันเท่านั้น “

ดังนั้น ถามว่าถ้าไทยแพง แล้วทำไมเชลล์ยังต้องมาซื้อน้ำมันจากโรงกลั่น ปตท.ในประเทศไทยทุกวัน เพราะว่า ราคาในไทย ไม่ได้สูงเกินไปจนกระทั่งทำให้ มีการนำเข้าแล้วคุ้มกว่า และถ้าเมื่อไรราคาในประเทศไทยสูงไป

 ไทยนำเข้า “เบนซิน” ทั้งที่แพงกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไทยนำเข้าจริงๆ คือ “แก๊สโซลีน” เพราะประเทศไทย มีน้ำมันเบนซินไม่เพียงพอในบางช่วงเวลาทำให้ต้องมีการนำเข้า อย่างปีนี้ โออาร์นำเข้าเบนซิน 4 ลำแล้ว ลำละ 50 ล้านลิตร สะท้อนว่าไทยผลิตน้ำมันเบนซินไม่เพียงพอใช้ และในไตรมาส 4 ปี 2566 โออาร์ยังมีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซินเพิ่มอีก 1 ลำ เพราะเป็นช่วงไฮซีซัน

“ไทยผลิตน้ำมันเบนซิน ไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงต้องนำเข้าทั้งที่ราคาน้ำมันเบนซินนำเข้าสูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินจากหน้าโรงกลั่นที่เมืองไทย สูงกว่าประมาณ 1 บาทต่อลิตร เรานำเข้ามาสูงกว่า แต่ต้องนำเข้าเพราะไม่พอ และเคลมใครไม่ได้ แต่เราต้องฟูลฟิล”

ซึ่งราคาสเปคนำเข้า เพราะสเปคน้ำมันไทยสูงกว่าต่างประเทศ เช่น ค่ากำหนดต่างๆ  RVP ซัลเฟอร์ หลายตัวไม่ตรงกัน 4 พารามิเตอร์ ฉะนั้น การจัดหาน้ำมันเบนซินสเปคไทย ที่มีอยู่อย่างจำกัด หรือ หายาก แต่เราต้องไปจัดหาเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศไทย และเมื่อบวกกับค่าเฟสจึงมีราคาแพงกว่า

กล่าวโดยสรุป คือ  แม้ว่ากำลังการผลิตไทยจะสูง แต่สัดส่วนการผลิตหลักไปเป็นดีเซล น้ำมันเครื่องบิน 70% แต่อีก 30% เป็นเบนซินจึงทำให้ไทยมีปริมาณการกลั่นเบนซินไม่เพียงพอในบางครั้ง จึงจำเป็นต้องนำเข้า แต่ด้วยสเปคที่สูงทำให้หาแหล่งนำเข้าได้ยาก จึงมีต้นทุนการนำเข้าบวกค่าขนส่งสูงกว่าการกลั่นในประเทศ ประมาณ 1 บาทต่อลิตร

มาตรฐานน้ำมันทั้งหมดของไทยเทียบกับที่จะนำเข้า

หากมีการนำเข้าในเรื่องสเปคอาจจะต้องดู เพราะโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน เพราะสเปคของประเทศไทยจะแตกต่างจากสเปคต่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีสเปคน้ำมันแก๊สโซลีนที่แตกต่างกัน ดังนั้นอาจจะทำให้หายากกว่า อาจจะไม่มีของให้นำเข้ามากเพียงพอจนมาทำให้ราคาแข่งขันได้ ดังนั้น ต้องกลับไปที่กระทรวงว่าจะมีรายละเอียดในเรื่องนี้อย่างไร

ส่วนดีเซลแทบจะไม่มีการจัดหาจากการนำเข้าเลย เว้นแต่เมื่อไตรมาส 4 ปีก่อนที่ ราคาก๊าซแอลเอ็นจีที่ผลิตไฟฟ้าสูง ทำให้ต้องนำเข้าดีเซลมาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำหรับผลิตไฟฟ้า ราคาอยู่ที่ 25 เหรียญสหรัฐ ต่อล้านบีทียู จะสวิตฟ์มาเป็นดีเซล แต่ดีเซลในตลาดโลกมีของที่พร้อมที่จะซัพพลายมากกว่าเบนซิน ตอนนั้นมีการนำเข้าดีเซลมาเยอะมา

“เราได้พูดคุยเรื่องการนำเข้าเสรีกับทางท่านอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และมีการส่งข้อมูลในเชิงผู้ปฏิบัติให้กรม ไม่ได้ไปให้ข้อมูลกับทางท่านรมต.ส่วนแผนลดค่าครองชีพประชาชน นโยบายเรื่องการปรับลดค่าครองชีพก็น่าจะไปทาง ปตท.”

การคุมราคาดีเซล 29 บาท/ลิตร

ผมไม่สามารถคอมเม้นท์อะไรนโยบายได้ แต่ทางรัฐบาลคงต้องการบริหารต้นทุนในการขนส่งอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการแข่งขันได้ ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่ง เพราะต้นทุนโลจิสติกส์ ก็ส่งผลต่อหลายๆอุตสาหกรรม

“นโยบายของรัฐบาลคือการบริหารจัดการต้นทุนค่าน้ำมันเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน มาเกินไป เราต้องช่วยกัน โออาร์น้อมรับนโยบายของรัฐ เพราะเป็นหนึ่งในองค์กรที่ต้องดูแลประชาชน แต่เราชี้แจงให้ฟังว่าโออาร์ขึ้นหรือลงราคามันมีกลไก เราขึ้นเป็นธรรม มีผู้กำกับดูแลเรา ค่าการตลาดเรายังอยู่ในกรอบไม่เกินกรอบนั้น เราได้แค่ 1.60-1.70 บาท ต่ำกว่ากรอบ 2 บาท สูตรราคาของสนพ. เป็นเกณฑ์กลางอ้างอิงเท่านั้น ไม่ได้เป็นมาตรการที่ต้องทำตาม ผมซื้อมาขายไป ฉะนั้นโออาร์ไม่ได้ใช่คนกำหนดราคาขึ้นลง”

ลุ้นรัฐไฟเขียว ปรับค่าการตลาดใหม่ พ.ย.นี้

“ส่วนค่าการตลาดโออาร์ไม่ใช่ผู้ผลิต เราเป็นผู้ซื้อมาขายไป เราก็อยากซื้อมา 100 บาท ขายไป 102 บาท ถ้าซื้อ 101 บาท ก็ควรจะขายได้ 103 บาท ซึ่ง 30 บาท ก็ใช้กองทุนเข้ามา เพื่อจำทำให้ราคาไม่แกว่ง พอราคาขึ้นก็ใช้เงินกองทุนเข้ามาสนับสนุน พอราคาลงๆ ก็เป็นโอกาสที่ร้ฐบาลจะดึงเงินกลับมากองทุนได้ เรายังได้ 4% ค่าการตลาดดีเซล จึงไม่ได้รับผลกระทบ หรือ คงไว้ในกรอบ 2 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ที่จะมีการปรับตารางส้ม เรื่องค่าการตลาด ทางโออาร์จัดทำรายละเอียดโครงสร้างต้นทุนเสนอไปว่า ที่มาที่ไปคำนวณ ต้นทุนเพิ่มขึ้นและที่ผ่านมาไม่สะท้อน มีการปรับต้นทุนมาพอสมควร แต่ค่าการตลาดไม่ได้ปรับมานานพอสมควรแล้ว เราก็ให้ฟีดแบคไปเป็นไกด์ไลน ขึ้นอยู่กับกระทรวง คาดว่าจะได้คำตอบ พ.ย.นี้“

สำหรับค่าการตลาดนี้ ต้องอธิบายว่าเวลารับน้ำมันเป็นราคาเอฟ.โอ.บี. คือ ราคาหน้าโรงกลั่น ดังนั้น ราคานี้จึงเป็นแค่กรอสมาร์จินที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วย การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน คลังน้ำมัน ระบบโลจิสติกส์ ต่างๆ ที่ต้องเคลื่อนย้ายน้ำมัน ฉะนั้น มีต้นทุนทั้งค่าคน ค่า Operation ค่าดูแลเรื่องความปลอดภัยต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นดีลเลอร์ก็มีค่าใช้จ่ายในการดูแลปั๊มน้ำมัน ก็ต้องมีเช่นกัน

ไม่กระทบพอร์ตธุรกิจโออาร์

โออาร์มี 4 พันธกิจ คือ การเคลื่อนย้ายหรือ Mobility ไลฟ์สไตล์ ธุรกิจต่างประเทศ และ อินโนเวชั่น ซึ่ง่ในขาของ โมบิลิตี้ ไม่ได้มีแค่ปั๊มน้ำมัน นี่เป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เดียว และยังมีการแบ่งประเภทการขายเป็นขายหน้าปั๊มน้ำมัน 45% ของรายได้ และการขายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสัดส่วน 55 %  ทั้งขายโรงงาน น้ำมันเครื่องบิน บังเกอร์ ราชการ  ลูบิแคนท์ ยางมะตอยต่างๆซึ่งประเด็นนี้กระทบในสัดส่วน 20-30% ของโมบิลิตี้ ไม่กระทบกับพอร์ตทั้งหมดของโออาร์

“ในไตรมาส 2 กำไร 3 พันล้านบาท มาจากการขายหน้าปั๊มทั้งของบริษัท และดีลเลอร์ 30% ซึ่งเทียบกันแล้วตอนนี้กำไรของไลฟ์สไตล์เพิ่มขึ้นสูง 2 ดิจิตของEBITDA Margin  ประมาณ 25-30% EBITDA Margin ซึ่งนโยบายเราเป็นที่ทราบดีว่ากำลังเทิร์นดาวน์ในส่วนของฟอสซิล แต่คงใช้เวลาประมาณ 10 ปี พอร์ตของไลฟ์สไตล์พยายามบูธมากขึ้น ตอนนี้ EBITDA พอร์ตประมาณ 20% แต่ในอีก 5 ปีจะให้ไปถึง 40-50% ของพอร์ตทั้งหมด”

น้ำมันเครื่องบินโต 60% ดันกำไรโออาร์ Q3

ครึ่งปีแรกกำไรปีก่อนราคาขึ้นอย่างแรง ทำให้ได้รับอานิสงค์สูง ซึ่งครึ่งปีนี้ ราคาน้ำมันผันผวน ก็ยังรักษากำไร 5,700 ลดลง 45% ซึ่งเมื่อเทียบกับเพื่อนในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เรายังรักษากำไรให้อยู่ในระดับที่ดี ซึ่งในไตรมาส 3 ก็ยังรักษาระดับกำไรให้เติบโตตามเป้าหมายที่เซ็ตไว้ ต่อเนื่อง เรามั่นใจว่าโออาร์ยังทำได้ดี ไม่ว่าจะมีปัจจัยอะไรก็ตาม

โดยผลดีมาจาก น้ำมันเครื่องบินที่มียอดขายเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 60% จากปีที่ผ่านมา แต่หากเทียบกับก่อนโควิด ปี 2019 ขายอยู่ 4,000 ล้านลิตร คาดว่าทั้งปีนี้จะได้ 3,200 ล้านลิตร ซึ่งยอดขายยังต่ำกว่าตอนนั้นอยู่ 20% ซึ่งยังเป็นรูมที่จะเติบโตได้อีกในปีหน้า

และยิ่งในขณะนี้เรื่องการเดินทาง ยังเติบโต แต่ยังรอท่องเที่ยวกลับมาอีก จะทำได้ในส่วนของ 20% ที่รออยู่ อย่างการเปิดฟรีวีซ่าจีนในไตรมาส 4 ก็หวังว่าจะมีการเดินทางท่องเที่ยวกลับมา เพราะเราซัพพลายน้ำมันเครื่องบินอยู่ประมาณ 53% ของประเทศ

อย่างไรก็ตามอีกด้านเราพยายามบริหารจัดการลดต้นทุนให้ต่ำลง นำเอาเรื่อง Risk Management เข้ามาแก้ไขต้นทุนได้ โดยเอาเครื่องมือบริหารความเสี่ยงมาทำให้ช่วงไตรมาส 2 ราคาน้ำมันหัวทิ่ม แต่เราไม่ได้ขาดทุนสต็อกน้ำมัน

โออาร์กางแผน 4 สาขาธุรกิจ ดันเป้าเติบโต 10%

ซึ่งภาพรวมทั้ง 4 สาขามีการเติบโตตามแผนที่วางไว้อยู่แล้ว อย่างอีวีมีการเติบโตตามที่วางไว้ สามารถขยายสาขาสถานีชาร์จรองรับทุกจังหวัดแล้ว รวมจำนวน 555 แห่ง ในปั๊ม PTT Station 407 สาขา และนอกปั๊มอีก 148 สาขา  และตั้งเป้าขยาย หัวชาร์จให้ไดเ 7,000 แห่งในปี 2573

ส่วนไลฟ์สไตล์มีการจัดการบริการทั้งอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าบริการอย่างร้านซักผ้า เพื่อเร่งให้พอร์ตสไตล์เติบโตขึ้น หากโมเดลดีก็จะขยายไปต่างประเทศ อย่างในกัมพูชา ก็นำหลายๆ โมเดลไป เช่น นำออโตริไปลง 1-2 ที่การตอบรับก็ดี

“ทุกๆ เซ็คเตอร์เราพยายามให้มันโต โดยเป้าหมายทุกๆ เราวางไว้ว่าจะเห็นการเติบโต 10%  ซึ่งผมยังยืนว่าเราจะสามารถเมนเทนกำไรไปในทิศทางที่เราต้องการได้ แต่เท่าไรบอกไม่ได้ แต่เราเซ็ตการ Growth ไว้ 10% หมด และในไตรมาส 3 เรายังสามารถสร้างผลกำไรได้ในทิศทางที่เรากำหนด แม้ว่าจะมีผลกระทบอะไรก็ตาม PTT station เป็นเพียง 1ใน 8-9 สินค้าของเรา เมื่อตรงนี้มีนโยบายรัฐบาลมา เราก็ไปปรับในส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบ”

 Q4 โออาร์ลุย Health and Wellness

เราได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญไว้แล้ว เราพยายามที่จะเข้าไปเซคเม้นใหม่ คือ รีเทล ซึ่งเรายังไม่มีประสบการณ์ คือ Health and Wellness ธุรกิจที่ผู้เชียวชาญมองว่าควรจะเข้าไป เพราะมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง เพราะทุกคนต้องการความสวยความงาม เข้าสู่สังคมสูงวัย ฉะนั้นต้องเข้าไปสู่ธุรกิจบริการ สุขภาพ ความสวยความงามเป็นธุรกิจใหม่

“เรากำลังทำงานตรงนี้ คิดว่า มกราคม -กุมภาพันธ์ ก็คงเห็นจะเห็นภาพชัด เพราะกำลังทำงานตรงนี้อยู่ ซึ่งภาพของ health and wellness ที่เรามองไว้ ในช่วงแรกจะทำสินค้าเรื่องบิวตี้ เช่น personal care health care main supplement ต่างๆ เราก็จะมีสโตร์ใน PTT Station หรือในแหล่งที่เหมาะสม หรือ Stand alone ตอนนี้โออาร์อินโนเวชั่นดูแลเรื่องนี้เป็นธุรกิจใหม่นี้อยู่”

ส่วนคลินิกโอบอ้อม ก็เป็นหนึ่งในโปรโตไทด์ เราไปเป็นพาร์ทเนอร์กับ สวทช. ซึ่งเราทำแอพลิเคชั่นเทเลเมด (Tele Med) ซึ่งโปรโตไทด์นี้จะมาเซอร์วิสผู้ที่ถือบัตรทอง เราจะมีหมอในเครือข่ายประมาณ 50 กว่าคน ถ้าคนไข้มา เราก็จะให้ลงทะเบียน และโทรศัพท์ปรึกษาหมอออนไลน์ ค่าเฉลี่ยประมาณ 1.30 นาที เริ่มปฏิบัติการณ์แล้ว

เป้าหมายจะช่วยประชาชนให้มีความสะดวกในการรับยา และสั่งยา โดยตรงกับหมอ ซึ่งหากสำเร็จก็จะขยายมากขึ้น อาจจะครบทุกสาขาที่จำเป็น โดยจะเน้นสาขาที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลในรัศมี พอสมควร หากเกิดอะไรขึ้นก็จะสามารถส่งต่อคนไข้ไปยังโรงพยาบาลได้ อย่างรวดเร็ว เป็นเงื่อนไขที่กำลังพิจารณา เริ่มทดลองถึงกันยายน

“เรื่องรายได้นั้น มองว่า เราต้องสร้าง Ecosystem ก่อน ทุกอย่างต้องลงทุน เราคงไม่หวังผลในช่วงแรก แน่นอนว่าเราติดตลาด มีคนเข้ามาใน Ecosystem เรากี่แสนคนกี่ล้านคน ก็จะทำให้เชื่อมโยงสู่การทำพาณิชย์ได้ และกำลังมองบิซิเนสโมเดล โดยต้องรอดทำบิซิเนสโมเดล  ซึ่งเป็นไปได้ว่าเราจะเชื่อมโยงกับธุรกิจในกลุ่มปตท. อย่างอินโนบิกทำยา วันหนึ่งก็ต้องอยู่ใน Ecosystemของเรา เพราะโออาร์ทำงานรีเทลให้ปตท.”