ส่งออกไทย ส.ค. 2566 โต 2.6% พลิกบวกครั้งแรกรอบ 11 เดือน

คอนเทนเนอร์ ส่งออก
Photo : Pixabay

“พาณิชย์” เผยการส่งออก ส.ค. 2566 ทำได้มูลค่า 24,279. ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.6% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน สินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมฟื้น ทั้งนี้ ส่งออกรวม 8 เดือน ยังลบ 4.5% คาดเดือนส่งออก ก.ย. ยังมีลุ้น ทั้งปี 2566 ยังมีเป้าทำงาน 1-2% ถ้าไม่ได้ จะพยายามให้ติดลบน้อยที่สุด

วันที่ 26 กันยายน 2566 นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนสิงหาคม 2566 พบว่ามีมูลค่า 24,279.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.6% เป็นการส่งออกที่กลับมาบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยการส่งออกของไทยที่กลับมาเป็นบวกได้ 2.6% ได้เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรดีขึ้น มังคุด ขยายตัวกว่า 20,000% และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็กลับมาดีขึ้น

กีรติ รัชโน
กีรติ รัชโน

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าไทยทำได้ดี โดยอินเดีย ลบ 6.9% ไต้หวัน ลบ 7.3% เกาหลีใต้ ลบ 8.3% จีน ลบ 8.8% สิงคโปร์ ลบ 12.6% มาเลเซีย ลบ 21.2% และอินโดนีเซีย ลบ 21.2% เป็นต้น

ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,919.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.8% ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้ามูลค่า 359.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ รวมการส่งออก 8 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 187,593.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 4.5% ส่วนการนำเข้ามูลค่า 195,518.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 5.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 6,732,833.5 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า มูลค่า 7,925.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตร 4.2% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 เดือน แต่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ยังลดลง 7.6% โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เพิ่ม 99.8% เฉพาะมังคุดสด เพิ่ม 28,175% ข้าว เพิ่ม 10.8% สิ่งปรุงรสอาหาร เพิ่ม 28.6% ผักกระป๋องและผักแปรรูป เพิ่ม 26.5% นมและผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 13.2% ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เพิ่ม 22.8% ส่วนยางพารา ลด 32.9% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 12.8% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลด 9.7% น้ำตาลทราย ลด 23.1% ไก่แปรรูป ลด 12.8% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ลด 57.4%

Advertisment

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 2.5% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 5.2% แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่ม 39.8% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เพิ่ม 6.4% เครื่องโทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 36.9% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เพิ่ม 74.5% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 59.1% ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลด 26.9% ผลิตภัณฑ์ยาง ลด 4.7% อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ลด 10.4% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ลด 23.4%

ทางด้านการส่งออกไปตลาดสำคัญ ตลาดหลัก เพิ่ม 2.3% โดยสหรัฐ เพิ่ม 21.7% จีน 1.9% และญี่ปุ่น 15.7% แต่อาเซียน (5) CLMV และสหภาพยุโรป (27) ลด 1.5, 21.3 และ 11.6% ตลาดรอง เพิ่ม 2.4% โดยทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 22.4% แอฟริกา 4.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS 30.4% และสหราชอาณาจักร 10.7% ขณะที่ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา ลด 0.9, 12.6 และ 11.7% และตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 62.8% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 53.6%

ส่งออก ก.ย. ฟื้นแน่

นายกีรติกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกเดือน ก.ย. 2566 ยังหวังว่าจะฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็มีข้อสังเกตเดือน ก.ย. 2565 ฐานสูงมาก มีมูลค่า 24,953.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็ต้องมารอดูว่าจะส่งออกได้เกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐไปเท่าไร แต่ตัวเลขตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. 2566 น่าจะเห็นอะไรดี ๆ เข้ามา เพราะเป็นช่วงที่คำสั่งซื้อเข้ามาเยอะ

Advertisment

ส่วนเป้าทั้งปี ยังคงมีเป้าทำงานไว้ที่ 1-2% ถ้าทำเป็นบวกไม่ได้ ก็ต้องให้ติดลบน้อยที่สุด ซึ่งต้องถือว่าเอกชนของไทย ยืนอยู่แถวหน้าได้เลยในเรื่องการส่งออกด้วยศักยภาพที่มีอยู่ และยังมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออก ทั้งรักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุน

อย่างไรก็ดี การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์ด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งในช่วงปลายปีมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า สำหรับภาพรวมตลาดส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดหลัก อย่างสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น กลับมาบวก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงยาวนานที่จะชะลอการผลิตและการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น ภาวะภัยแล้งที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตเพื่อการส่งออก และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกแทบทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

แผนส่งออก

สำหรับแผนการส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ทั่วโลก เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยยังคงให้รักษาเป้าหมายการส่งออกในปี 2566 ไว้อยู่ที่ร้อยละ 1-2 และมีนโยบาย “เร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวก” โดย (1) ใช้ประโยชน์จาก Soft Power สร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการไทยโดยเชื่อมโยงกับภาคบริการและการท่องเที่ยว

(2) จัดทำและนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในตลาดทั่วโลก เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการ (3) แก้ไขปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดน เป็นปัญหาคอขวดและเป็นอุปสรรคต่อสินค้าไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (4) ผลักดันและสร้างระบบนิเวศในการยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาค

นอกจากนี้มีนโยบาย “ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA” โดยให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับตัว สร้างความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก และเตรียมความพร้อมให้ดำเนินธุรกิจสอดรับกับกฎกติกาใหม่ ๆ ของโลก เช่น Carbon Credit BCG และ SDGs เป็นต้น

อีกทั้งได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ วางแผนยุทธศาสตร์หรือแผนบริหารจัดการสินค้าอย่างครบวงจรร่วมกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อ “รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่” และเพิ่มบทบาท “พาณิชย์คู่คิด SME” ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถส่งออกได้

เอกชนมองแนวโน้มดี

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนมองว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จะกลับมาเป็นบวกได้ และในช่วงที่เหลืออีก 4 เดือน หากจะให้การส่งออกพลิกกลับมาขยายตัว 0% การส่งออกแต่ละเดือนต้องทำให้ได้มูลค่า 24,960 ล้านเหรียญสหรัฐ และถ้าติดลบ 1% จะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ย 24,200 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าจะให้ฟันธง ทั้งปีน่าจะติดลบ 1%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกเดือน ส.ค. 2566 ที่เพิ่มขึ้น 2.6% เป็นการกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ การส่งออกติดลบต่อเนื่องมาแล้ว 10 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 ที่ลดลง 4.2% พ.ย. 2565 ลด 5.6% ธ.ค. 2565 ลด 14.3% ม.ค. 2566 ลด 4.6% ก.พ. 2566 ลด 4.8% มี.ค.ลด 4.2% เม.ย. 2566 ลด 7.7% พ.ค. ลด 4.6% มิ.ย. ลด 6.5% ก.ค. ลด 6.2%