ชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก ยื่นข้อเสนอดูแลข้าวปี’66/67 กับพาณิชย์ ก่อนชง นบข.

ประกันรายได้ข้าว งวดที่ 24
ภาพจาก PIXABAY

กรมการค้าภายในถกชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ผลผลิตข้าวปี’66/67 เบื้องต้นคาดลดลง 3% จากภัยแล้ง แต่ต้องรอดูความชัดเจนปริมาณน้ำช่วงต้น ต.ค.นี้อีกครั้ง เตรียมรวบรวมก่อนชง นบข. พิจารณา

วันที่ 25 กันยายน 2566 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้รับนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้ติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวเปลือก รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนเกษตรกร เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะและแนวทางรักษาเสถียรภาพราคาข้าวที่มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและเกิดความคุ้มค่า โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ตลอดจนโอกาสของข้าวไทยในตลาดโลก

ทั้งนี้ กรมได้จัดประชุมร่วมกับสมาคมชาวนา 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมชาวนาข้าวไทย สมาคมส่งเสริมชาวนาไทย สมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน โรงสี ผู้ส่งออก ผู้ค้า และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวเปลือก ปีการผลิต ปี 2566/67

พบว่าจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกนาปีคาดว่าจะอยู่ที่ 25.76 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่ 26.63 ล้านตัน ลดลง 3% ส่วนหนึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำฝน ในช่วงต้นเดือน ต.ค. 2566 อีกครั้งนึง ถึงจะประเมินปริมาณผลผลิตข้าวปี 2566/67 ได้ชัดเจนขึ้น

สำหรับข้อเสนอแนวทางมาตรการบริหารจัดการข้าว ปี 2566/67 มีการเสนอให้มีการเก็บสต๊อกทั้งในส่วนของเกษตรกร สหกรณ์ โรงสี ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทั้งในส่วนการรักษาเสถียรภาพราคาและมีสต๊อกข้าวไว้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

ขณะที่เกษตรกรได้เสนอขอให้ช่วยเหลือค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท/ครัวเรือน ซึ่งกรมจะได้รวบรวมข้อเสนอทั้งหมด และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อพิจารณามาตรการและแนวทางบริหารจัดการข้าวที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสำหรับปีการผลิต 2566/67 ต่อไป

นอกจากนี้ ล่าสุดนายภูมิธรรมยังได้สั่งการให้กรมเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดในการซื้อขายสินค้าเกษตร ให้มีความเที่ยงตรง เพื่อดูแลความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร ซึ่งกรมได้จัดชุดสายตรวจเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องแล้ว หากตรวจพบเครื่องชั่งไม่ถูกต้อง ไม่มีความเที่ยงตรง จะดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด ส่วนเกษตรกร หากพบเห็นหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อขายสินค้าเกษตร สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569