กระทรวงทรัพย์ฯ ชงกฎหมายรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ คาดปี 2570 ประกาศใช้

นางชญานันท์ ภักดิจิตต์

กระทรวงทรัพย์ฯ ชงกฎหมายรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางตามหลัก Circular economy คาดปี 2570 ประกาศใช้

วันที่ 7 ตุลาคม 2566 นางชญานันท์ ภักดิจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานสัมมนา EPR in action ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ธุรกิจปังอย่างยั่งยืนและกิจกรรมแสดงเจตจำนง PackBack in Action รวมพลังเดินหน้า EPR Voluntary ว่า

การที่ภาคเอกชนได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเพื่อเริ่มดำเนินการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วนำมารีไซเคิลด้วยหลักการ Extended Producer Responsibility หรือ EPR นี้ สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ก่อนหน้านี้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะเพียง 2 ฉบับ ซึ่งเรามองว่าไม่ครอบคุลมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ทำให้ขณะนี้ กระทรวงฯ ได้ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนพัฒนากฎหมาย EPR ฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศบังคับใช้ได้ภายในปี 2570 เพื่อนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular economy  เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

กระทรวงทรัพย์ฯ

Advertisment

โดยปัจจุบัน กระทรวงฯ มีแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศฉบับที่ 2 ตั้งแต่ 2565 – 2570 ซึ่งประกอบไปด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 คือการจัดการขยะที่ต้นทาง เน้นการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตนเองตามหลักการ EPR รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภค พร้อมศึกษาองค์ประกอบขยะมูลฝอยและกำหนดระบบการคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง

ส่วนมาตรการที่ 2 คือการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกำจัดขยะ ตั้งแต่การเพิ่มสถานที่กำจัดขยะที่ถูกต้องให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงการส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐในการจัดการขยะพร้อมกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ตลอดจนกำหนดแนวทางการจัดการขยะใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สุดท้ายมาตรการที่ 3 คือการพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการขยะ  ได้แก่การพัฒนากฎหมายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การผลักดันการออกกฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงออกประกาศกฎหมายคัดแยกขยะและการเก็บรวบรวมแบบแยกประเภท เพื่อให้การปกครองส่วนท้องถิ่นนำไป ออกข้อบังคับต่าง ๆ และสุดท้ายคือวิจัยเพื่อสนับสนุนการลด

“ด้วยเหตุยี้แนวการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ต้องทำให้ขยะไม่ใช่ขยะอีกต่อไป แต่ขยะคือทรัพยากรที่ต้องนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราทำได้หมดนี้แล้วเราจะส่วนช่วยลดการปล่อยเรือนกระจกและช่วยประเทศเดินตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 ได้อย่างแน่นอน

Advertisment