อัพเดตล่าสุด ปริมาณน้ำในอ่างทั่วประเทศ 55,286 ล้าน ลบ.ม. ทะลุ 72%

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล
ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล

กรมชลประทาน วางแผนจัดจราจรน้ำ รับมือสภาพอากาศแปรปรวน พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 8 จังหวัด อัพเดตสถานการณ์ล่าสุด ปริมาณน้ำในอ่างทั่วประเทศ 55,286 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 72% ของความจุอ่างรวมกัน

วันที่ 9 ตุลาคม 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

กรมชลประทาน วางแผนจัดจราจรน้ำ รั

 

ดร.ทวีศักดิ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (9 ต.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกันทั้งสิ้น 55,286 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 72% ของความจุอ่างรวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 21,154 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 14,823 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 60% ของความจุอ่างรวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 10,048 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทาน วางแผนจัดจราจรน้ำ รั

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการจัดจราจรน้ำ

และตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน อาคาร อ่างเก็บน้ำ รวมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ล่าสุด กรมชลประทาน ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือประชาชน หลังมีฝนตกหนักหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งระบายน้ำ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ บรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ

1.จังหวัดสุโขทัย
สำนักงานชลประทานที่ 4 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณหมู่ที่ 1 บ้านคลองปู ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก เร่งสูบระบายน้ำที่ท่วมขังพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎร

2.จังหวัดตาก
สำนักงานชลประทานที่ 4 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณหมู่ที่ 4 บ้านชะลาดระฆัง ตำบลโป่งแดง อำเภอเมืองตาก เร่งระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำชะลาดระฆัง ลดผลกระทบประชาชนด้านท้ายอ่าง

3. จังหวัดอุบลราชธานี
สำนักงานชลประทานที่ 7 ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันลำเลียงกระสอบทรายกั้นมวลน้ำ บริเวณชุมชนท่ากอไผ่ อำเภอวารินชำราบ จากสถานการณ์น้ำแม่น้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งฝั่งอำเภอวารินชำราบ

4. จังหวัดสิงห์บุรี
โครงการชลประทานสิงห์บุรี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ชนิดหอยโข่งขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 3 เครื่อง สูบน้ำช่วยเหลือประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลบางมัญ อำเภอเมืองสิงห์บุรี

5. จังหวัดอ่างทอง
โครงการชลประทานอ่างทอง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ในเขตพื้นที่ตําบลยี่ล้น และตำบลบางจัก อําเภอวิเศษชัยชาญ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ทำการเกษตร และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้เลี้ยงปลากระชังที่อยู่ริมน้ำแม่น้ำน้อยให้ทราบเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด

6.จังหวัดนครนายก
สำนักงานชลประทานที่ 9 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1 เครื่อง พร้อมสูบเร่งระบายน้ำท่วมขัง บริเวณ ม.1 ต.บางปลากด อ.องครักษ์ จากเหตุฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่บ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตร

7. จังหวัดปราจีนบุรี
สำนักงานชลประทานที่ 9 ติดตั้งเครื่องจักรกลสูบน้ำ (เพิ่มเติม) จำนวน 1 เครื่อง บริเวณโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง สูบระบายน้ำท่วมที่ท่วมขังหลังมีฝนตกหนัก

8. จังหวัดปทุมธานี
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 2 เครื่อง บริเวณคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ช่วง ปตร.กลางคลอง 8-9 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เร่งระบายน้ำในคลองรังสิต

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หากพี่น้องประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสายด่วน กรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา