เศรษฐานำเอกชนบุกจีนฉลุย “สวัสดิ์ไพบูลย์” ขายมันเส้นคอฟโก้ 5 แสนตัน

นายกโรดโชว์จีน
เศรษฐา ทวีสิน

ทริปนายกฯลุยจีน ดันการค้า-การลงทุนผ่าน Belt and Road Forum ฉลุย นำทัพ 50 ธุรกิจคว้าตลาด 2.4 ล้านล้านบาท ดันส่งออกไทยปี’67 สู่เป้า 3.6% ด้าน “สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร” ประเดิมลงนามขายมันเส้น “คอฟโก้” รัฐวิสาหกิจจีน 5 แสนตัน กว่า 4.6 พันล้านบาท-BOI ร่วมดึงทุนจีน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อีวี-อิเล็กทรอนิกส์-ดิจิทัล ย้ำภาพจีนนักลงทุนเบอร์ 1 แค่ 8 เดือนเงินทะลัก 9 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะเข้าร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ครั้งที่ 3 ตามคำเชิญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ ได้มีผู้แทนภาคเอกชนของไทยประมาณ 50 ราย ร่วมเดินทางเยือนจีนในครั้งนี้ด้วย เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมหารือการขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจีน (CCPIT) ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันในเวที Thailand China Investment Forum เพื่อช่วยเชื่อมความสัมพันธ์และส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างภาคธุรกิจไทย-จีนได้สะดวกยิ่งขึ้น

รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางเศรษฐกิจการค้า กฎหมาย กฎระเบียบ ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำการค้า การลงทุนร่วมกัน ซึ่งเอกชนหวังว่าการเดินทางเยือนในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดเม็ดเงินการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในประเทศไทยให้เติบโตก้าวกระโดดมากยิ่งขึ้น

ด้านนายกิตติชัย ตั้งเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท สวัสดิ์ไพบูลย์ฯ เป็นเอกชนรายหนึ่งที่ได้รับคัดเลือกให้ไปลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในงาน Belt and Road Forum ซึ่งมีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นประธาน โดย MOU ครั้งนี้เป็นข้อตกลงในการจัดซื้อมันสำปะหลังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2567 ระหว่างบริษัท สวัสดิ์ไพบูลย์ฯ และบริษัท COFCO Group รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของจีน จำนวน 500,000 ตัน คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณกว่า 4,600 ล้านบาท

กิตติชัย ตั้งเจริญ
กิตติชัย ตั้งเจริญ

สวัสดิ์ไพบูลย์

กิตติชัย ตั้งเจริญ

“ตลาดส่งออกมันเส้นในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งจะเป็นช่วงปลายฤดูกาล ซึ่งเป็นช่วงที่มันสำปะหลังกำลังทยอยออกสู่ตลาดในช่วงปลายปี โดยความต้องการซื้อมันสำปะหลังยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงที่พีกอีกทีจะเป็นช่วง ม.ค.-มี.ค.ปี 2567 เพราะมันเส้นจะถูกนำไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นรอว์แมทีเรียลในหลาย ๆ อุตสาหกรรม และยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยเฉพาะในจีนซึ่งมีความต้องการเฉลี่ยปีละ 280 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี จนมีโอกาสจะเพิ่มเป็น 300 ล้านตัน การลงนามครั้งนี้จะทำให้มันสำปะหลังไทยมีโอกาสส่งออกมากขึ้น”

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า การเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างประเทศ และเปิดโอกาสให้ต่างประเทศได้เห็นถึงแนวทางนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีในระยะกลางและระยะยาว ขณะที่ภาคการส่งออกจะเริ่มดีขึ้นในปีหน้า ซึ่งคาดว่าแนวโน้มจะขยายตัวได้ 3.6% ส่วนการส่งออกไตรมาส 4 ปี 2566 ยังมีโอกาสจะหดตัว 6.8% จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน ช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) 2566 มีมูลค่า 2.40 ล้านล้านบาท ไทยส่งออก 790,738 ล้านบาท นำเข้า 1,611,572 ล้านบาท ขาดดุลการค้าจีน 820,834 ล้านบาท

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ด้านการลงทุน ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา จีนยังครองตำแหน่งนักลงทุนเบอร์ 1 ในประเทศไทย มีสัดส่วน 25% ของยอดรับส่งเสริมทั้งหมด หรือมูลค่า 90,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57,809 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการลงทุน 32,537 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของบีโอไอมีกำหนดจะเข้าร่วมในหลายเวที ทั้งเวที Belt and Road Forum ที่เป็นเวทีใหญ่ และการนัดพบกับเอกชนแบบ 1 ต่อ 1โดยในส่วนบริษัทอีวีจีนจะเข้าร่วมการหารือในเวทีสัมมนาใหญ่

“การลงทุนจีนตอนนี้มาเป็นอันดับ 1 จะเห็นว่าทิศทางการลงทุนจีนจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 3 สาขาหลัก เรื่องอีวี รวมถึงแบตเตอรี่และชิ้นส่วน กลุ่มที่ 2 คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มที่ 3 คือ ด้านดิจิทัล ซึ่งก็มีบริษัทใหญ่ ๆ ของจีนหลายรายที่มีเบสในเมืองไทยแล้ว และก็จะทำให้เขาขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หัวเว่ย อาลีบาบา Tencent แล้วก็มีอีกหลายบริษัท ไทยอยากให้กลุ่มเหล่านี้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และต้องการดึงดูดธุรกิจใหม่ ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็น 3 กลุ่มหลัก จริง ๆ จีนเขามีบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากที่เป็นคอร์ปอเรต ที่ทำหลาย ๆ อย่าง มีธุรกิจหลายอย่างในเครือ อันนี้ก็มีจำนวนมาก ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็มีโอกาสและมีศักยภาพที่เราจะชวนให้มาลงทุนในเมืองไทยในเรื่องต่าง ๆ ด้วย เพราะไทยมีโครงการพัฒนา infrastructure อีกมากมาย เป็นโอกาสที่จะชวนเขามาลงทุน”

สำหรับภาคเอกชนที่ร่วมคณะ 50 คน มาจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) 37 คน ทั้งจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 22 คน นำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทีมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 5 คน นำโดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. และสมาคมธนาคารไทย 10 คน นอกจากนี้ ยังมีทีมหอการค้าไทย-จีนอีก 6 คน มีเอกชนรายใหญ่ที่จะเดินทางไปเสริมอีกจำนวนหนึ่ง เช่น บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ บ้านปู อมตะฯ มิตรผล และซี แวลู ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด เป็นต้น