เลี้ยงหมูขาดทุนตัวละ 3,000 บาท เกษตรกรทั่วไทย ขอนายกฯ ตัดวงจรหมูเถื่อน

หมู

ผู้เลี้ยงสุกรไทย ขอนายกรัฐมนตรีฯ ช่วยแก้ปัญหาราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำเร่งด่วน ขณะนี้เหลือกิโลกรัมละ 50 บาท ต่ำกว่าก่อนเกิดโรคระบาด ASF กระทบผู้เลี้ยงหนักมากขาดเงินทุนหมุนเวียน กิจการหยุดชะงักไปไม่รอด ผู้เลี้ยงบางส่วนเลิกเลี้ยงแล้ว เร่งภาครัฐหาทางออกด้านราคาคู่ขนานกับปราบปราม “หมูเถื่อน” จับคนผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรไทยอย่างยั่งยืน

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของผู้เลี้ยงหมูขณะนี้ คือ

ราคาหมูตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยราคาขายจริงเฉลี่ยหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มลดเหลือ 50 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับต้นทุนการผลิต 80-85 บาทต่อกิโลกรัม เฉลี่ยขาดทุนตัวละประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อตัว นับว่าปัจจุบันเป็นช่วงที่ราคาต่ำสุดเทียบกับปี 2563 ก่อนที่ไทยจะเจอปัญหาโรคระบาด ASF ขณะนั้นราคาหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 68-80 บาทต่อกิโลกรัม

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ

“ขณะนี้ เกษตรกรขาดเงินทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปใช้จ่ายในการบริหารจัดการฟาร์ม ประกอบกับธนาคารมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย จากปัจจัยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ทั้งราคาตกต่ำ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสูง ทำให้การกู้เงินของผู้เลี้ยงยากขึ้นและมีต้นทุนสูงขึ้นและไม่มีอำนาจต่อรอง เป็นอุปสรรคต่อการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์รุ่นต่อไป ทำให้เกษตรกรตัดสินใจเลิกอาชีพทำฟาร์มเลี้ยงหมู” นายสิทธิพันธ์ กล่าว

ตั้งแต่ปี 2564-ปัจจุบัน ผู้เลี้ยงสุกรไทยประสบปัญหาใหญ่ 3 ด้านหลัก คือ 1. ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้น 30% (โดยเฉพาะช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน) 2. พบโรคระบาด ASF ทำให้ลูกสุกรขุนและแม่พันธุ์หายไป 50% และ 3. หมูเถื่อนมากกว่า 40,000 ตัน ถูกลักลอบนำเข้ามาบิดเบือนกลไกราคาและกลไกตลาดในประเทศ ขายกดราคาต่ำมากหมูไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ทำให้อุตสาหกรรมสุกรไทยประสบปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

นายสิทธิพันธ์ กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ผลักดันให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) เดินหน้าโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร ให้สามารถขายหมูได้ตามโครงสร้างต้นทุนการผลิตเร่งด่วน เพื่อดูแลแก้ปัญหาราคาตกต่ำอย่างจริงจัง ก่อนที่ผู้เลี้ยงทั่วประเทศจะต้องเลิกอาชีพหมดทางทำมาหากิน และอาจทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศในอนาคตได้

หมู

ที่ผ่านมา เกษตรกรในหลายจังหวัด เช่น กระบี่ ตรัง สงขลา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ออกมาเรียกร้องขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคาสุกรตกต่ำต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ราคาสุกรหน้าฟาร์มเป็นราคาต่ำที่สุดในรอบ 20-30 ปี และทำให้แบกขาดทุนสะสมนานหลายเดือน โดยเสนอให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์พิจารณาแก้ปัญหาต้นน้ำของผู้เลี้ยง คือ

ต้นทุนวัตถุดิอาหารสัตว์ และขอให้พิกบอร์ดเร่งดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคาตามโครงสร้างต้นทุน และเร่งปราบปราม “หมูเถื่อน” ให้หมดสิ้นโดยเร็ว ซึ่งเกษตรกรต้องบริหารจัดการฟาร์มหลายด้านเพื่อความอยู่รอด เช่น การจับหมูก่อนกำหนดไปทำหมูย่าง, ปลดลูกหมูขุนบางส่วนเพื่อทำหมูหัน เป็นต้น เพื่อให้มีสภาพคล่องเลี้ยงฟาร์ม

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การปราบปรามหมูเถื่อนมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วมาก หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน กรมสอบสวนคดีพิเศษ และตำรวจ สั่งการให้เร่งรัดการปราบปรามอย่างจริงจัง ตลอดจนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายถึงยึดทรัพย์

รวมถึงการตรวจสอบการทำงานของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง หากพบมีการเอื้อประโยชน์ให้กับสินค้าไม่ถูกกฎหมายให้เอาผิดทางวินัยทันที นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ตรวจค้นห้องเย็นทั่วประเทศเพื่อตรวจสต๊อกที่อาจมีการซุกซ่อนเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายไว้

ผู้เลี้ยงหมูไทยฝากความหวังไว้กับรัฐบาลที่จะช่วยตัดตอนหมูเถื่อน และลดอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมสุกร ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล