“เศรษฐา” ติวเข้มกรมปศุสัตว์ ล้างบางหมูเถื่อน-แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์
สัมภาษณ์พิเศษ

ปัญหาการนำเข้าหมูเถื่อนที่ยืดเยื้อมานาน และยังมีการตรวจสอบพบตู้คอนเทนเนอร์บรรจุหมูเถื่อนตกค้าง 4 ล้านกิโลกรัมเมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นยืดเยื้อที่ส่งผลกระทบซ้ำเติมเกษตรกรไทย ที่เพิ่งฟื้นไข้จากความเสียหายโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรเมื่อปี 2565 ซ้ำยังเผชิญกับภาวะต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีก

จนถึงขณะนี้สัญญาณความเสียหายไม่ได้บรรเทาเบาบางลงไป ซ้ำยังเกิดปัญหาหมูล้นตลาดราคาหน้าฟาร์มตกต่ำเหลือ กก.ละไม่ถึง 60 บาทแล้ว

แม้ว่ากรมปศุสัตว์จะเข้มงวดตรวจสอบเพื่อลดดีกรีความร้อนแรงของหมูเถื่อนลง แต่ทว่ามาเฟียหมูเถื่อนกลับไม่เกรงกลัวกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ล่าสุดจากการเข้าตรวจสอบห้องเย็นบรรจุหมูที่คาดว่าจะเป็นหมูเถื่อนในอำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นเหตุการณ์สลดคร่าชีวิตนายสราวุฒิ ประจวง หัวหน้าด่านกักกันสัตว์เพชรบูรณ์ และยังส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่อีก 1 นายได้รับบาดเจ็บ

ต่อมาในภายหลังปรากฏข้อมูลจากในพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ร่วมทีมกับกรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ในครั้งนี้ จึงสร้างความเสียหายตามมา ประเด็นนี้ร้อนไปถึง “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ผู้รับหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีการเรียกให้อธิบดีกรมปศุสัตว์เข้าพบ พร้อมทั้งประชุมทางไกลเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทั่วประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์” อธิบดีกรมปศุสัตว์ ถึงทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับหมูเถื่อนทั้งระบบ

นายกฯเศรษฐาเรียกประชุมด่วน

“อธิบดีสมชวน” กล่าวว่า เมื่อวันอาทิตย์ 15 ตุลาคม 2566 นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้ให้กรมปศุสัตว์เข้าพบ พร้อมกับตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในกรณีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ถูกยิงที่ห้องเย็นจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ท่านนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รู้สึกถึงความสะเทือนใจไปถึงเจ้าหน้าที่ ท่านได้ให้กำลังใจในการปฏิบัติงาน และแสดงความเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่พวกเราก็พร้อมที่จะทำงานเต็มที่

เพราะว่าเป็นหน้าที่ก็ต้องขับเคลื่อน เพื่อปกป้องทั้งเกษตรกรที่ถูกแทรกแซงจากสินค้าหมูเถื่อนที่ทะลักเข้ามา ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง การคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าที่มีสุขอนามัย และการป้องกันการระบาดของโรคระบาดสัตว์ที่อาจจะตามมา”

หลังจากหารือด่วนร่วมกับนายกฯเศรษฐา ทางตัวแทน สตช.ยืนยันว่าจะมีการประสาน เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมในกระบวนการตรวจสอบห้องเย็นทุกครั้ง พร้อมทั้งดูแลในส่วนของกระบวนการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดตามกฎหมาย

ขยายผลตรวจห้องเย็นประมง

ล่าสุด กรมปศุสัตว์ปรับแผนการทำงาน โดยสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดและหัวหน้าด่านกลับไปบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมประมง ซึ่งจะมีการตรวจสอบขยายผลไปที่ห้องเย็นเก็บสินค้าประมงด้วย เพื่อตรวจสอบว่ามีการแอบเก็บหมูเถื่อนแฝงหรือไม่ และประสานกับตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรในพื้นที่ โดยในแต่ละชุดของการปฏิบัติงานภาคสนาม ต้องมีแผนปฏิบัติการทำงานร่วมกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

ประเด็นนี้ “นายไชยา พรหมา” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ได้มอบหมายให้มีการตรวจเอกซเรย์ห้องเย็นทั่วประเทศ คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดในสัปดาห์หน้า และได้ประชุม zoom ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงแนวทางการทำงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ทั้งหมด

อัพเดตข้อมูล กรมปศุสัตว์มีเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศในส่วนที่เป็นข้าราชการ 4,000 คน พนักงานราชการ 5,000 คน และพนักงานอัตราจ้างอีกจำนวนหนึ่ง รวมแล้วบุคลากรเกือบ 10,000 คน

“ขณะเดียวกัน ทางท่าน รมว.ธรรมนัส และ รมช.ไชยาจะมีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

ทำงานโปร่งใส-พร้อมให้ตรวจสอบ

ในส่วนกรณีที่ทนายชื่อดัง (นายอัจฉริยะ เรื่องรัตนพงศ์) ยื่นฟ้องตนข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ในเรื่องของการตรวจและเปิดตู้หมูเถื่อน 74 ตู้ที่ท่าเรือแหลมฉบังนั้น ตอนนี้ข้อเท็จจริงมีการลงไปตรวจสอบตู้ดังกล่าวแล้ว และมีรายละเอียดในเรื่องของการส่งมอบการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องดำเนินการด้วยหลักการโปร่งใส มีคณะกรรมการที่จะเข้าไปดูแลในการตรวจสอบทั้งหมดทุกตู้

“ล่าสุดก็ทราบจากทางเพจของทนายความชื่อดังว่าจะมีการร้องเรียนเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่ได้มีหนังสือแจ้งมาอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ผมมั่นใจว่า ไม่ว่าจะร้องอะไรเข้ามา เราสามารถจะชี้แจงได้ทุกข้อ เพราะกรมปศุสัตว์มีการทำงานที่สามารถตรวจสอบหลักฐานและความโปร่งใสได้อย่างเต็มที่”

บริหารจัดการสถานที่ฝังกลบแห่งใหม่

ในส่วนความคืบหน้าในการฝังทำลายหมูเถื่อน 161 ตู้ หลังจากมีการฝังทำลายไปแล้ว 20 ตู้ และเผา 1 ตู้ ทำให้มียอดคงเหลืออีกจำนวน 140 ตู้ ซึ่งจำเป็นจะต้องหาสถานที่ใหม่ เนื่องจากประชาชนในจังหวัดสระแก้วแสดงความไม่เห็นด้วยในการนำหมูเถื่อนเข้ามาฝังในพื้นที่

เพราะในขณะที่ดำเนินการฝังนั้น มีหมูเถื่อนบางตู้ที่เน่าและส่งกลิ่นในระหว่างที่มีการเปิดตู้ จำเป็นต้องรีบนำมาฝังทำลาย โดยในขณะที่ปฏิบัติการฝังกลบมีลมกระโชกแรงและฝนตกหนัก จึงอาจทำให้ชาวบ้านเกิดความวิตกกังวล

สำหรับกรณีนี้ ยืนยันได้ว่าหลักการทำงานของกรมปศุสัตว์ มีการปฏิบัติตามมาตรฐานในการฝังกลบอย่างครบถ้วน ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่มีมลพิษกลิ่นหลังจากการฝังกลบแน่นอน แนวทางคือจะมีการขุดหลุมที่มีความลึก 4-5 เมตร กว้าง 9 เมตร ทั้งยังมีการเลือกสถานที่ที่ห่างไกลชุมชน ห่างไกลแหล่งน้ำ

ซึ่งระหว่างนี้กรมจะดำเนินการหาสถานที่ฝังกลบใหม่ เบื้องต้นได้รับรายงานว่ามีพื้นที่เป้าหมายประมาณ 2-3 จุด รวมทั้งสถานที่ของทหารด้วย หลังจากนี้จะเร่งหาข้อสรุป คาดว่าจะเริ่มขุดและฝังกลบหมูเถื่อนยกที่ 2 เพื่อการทำลายซากได้ภายในก่อนสิ้นเดือนตุลาคมนี้

การันตี-ไม่มีหมูเถื่อนเพิ่มเติม

“อธิบดีสมชวน” กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ยืนยันว่า ขณะนี้เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะสกัดไม่ให้มีหมูเถื่อนเทิร์นเข้ามาใหม่ ซึ่งทางกลุ่มบริษัทได้มีการเพิ่มมาตรการเข้มงวดในเรื่องของการปราบปรามปัญหาสินค้าเกษตรลักลอบนำเข้า กระบวนการทำงาน นอกจากการประสานกับตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ศุลกากรต่าง ๆ แล้ว ยังมีการตั้งสายด่วน 06-3225-6888 และการเพิ่มช่องทางแจ้งเบาะแสผ่านแอปพลิเคชั่น DLD 4.0 ด้วย

ตั้งคณะทำงานเร่งแก้ราคาหมูตกต่ำ

ปัญหาหมูในระบบยังรวมถึงการออกมาตรการเพื่อยกระดับราคา โดยจะมีโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร ซึ่งเตรียมเชิญประชุมคณะทำงานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสุกร ประกอบด้วยตัวแทนภาคเอกชนรายย่อย เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยและรายใหญ่ โรงงาน นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการด้านปศุสัตว์

“คณะทำงานชุดนี้มีนายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธาน ส่วนตัวผมอธิบดีจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา นัดแรกผมจะนั่งเป็นประธานเอง”

คณะทำงานชุดที่ตั้งขึ้นมานี้ มีหน้าที่วางแนวทางการจัดทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสุกร ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดแม่พันธุ์ การขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ในการช่วยเรื่องของต้นทุนการเลี้ยง

“เป้าหมายการยกระดับราคาหมู เราต้องการขับเคลื่อนทุกวิถีทางที่จะทำให้เกษตรกรไม่ขาดทุน และรักษาเสถียรภาพราคาให้ไม่ต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยง ยกตัวอย่าง หากต้นทุนการเลี้ยง กก.ละ 90 บาท ราคาไม่ควรจะต่ำกว่า 90 บาท แต่ขณะนี้ราคาจำหน่ายสุกรหน้าฟาร์มอยู่ที่ 58 บาท ทำให้เกษตรกรประสบความเสียหายรุนแรง จำเป็นต้องเร่งแก้ไขและช่วยกันรักษาเสถียรภาพราคา”

อย่างไรก็ดี หากถามว่าขณะนี้จำนวนหมูล้นมีจำนวนเท่าใด เรื่องนี้สำคัญ ต้องให้คณะทำงานนำตัวเลขของแต่ละฝ่ายออกมายันกันว่า ตัวเลขการผลิตที่แท้จริง กับการบริโภคมีอยู่เท่าไหร่ เพื่อนำไปสู่แนวทางของการดูแลได้ตรงจุด เช่น การปรับลดพ่อแม่พันธุ์ต่อไป

มั่นใจผู้เลี้ยงรายใหญ่ช่วยลดพ่อแม่พันธุ์

คำถามสำคัญในประเด็นรายใหญ่อาจจะไม่ยอมลดจำนวนพ่อแม่พันธุ์นั้น เบื้องต้นมองว่าเรื่องนี้จะต้องประชุมเจรจากันก่อน ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่อาจจะยอมก็ได้ เพราะทุกคนรู้และเข้าใจถึงปัญหาร่วมกัน

“บทบาทสำคัญของกรมปศุสัตว์คือ มีหน้าที่ทำให้ทุกคนมองถึงสาธารณประโยชน์ร่วมกัน เป็นหลักคิดที่สำคัญ เราอาจจะไม่มีกฎหมายอะไรไปบังคับ แต่ผมเชื่อว่าความรู้และความเข้าใจ ตลอดจนข้อมูลที่ครบถ้วน นำไปสู่การวิเคราะห์อย่างแม่นยำ จะช่วยให้สามารถหาทางออกในการแก้ปัญหาอย่างดีที่สุด เช่น กรณีการแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ ซึ่งเราจะใช้เป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาหมู เพื่อสร้างความสมดุลในเรื่องของ demand และ supply”