พาณิชย์ เตรียม 2 มาตรการดูแลราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67

กระทรวงพาณิชย์

“พาณิชย์” เตรียม 2 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67 พร้อมเสนอ ครม. พิจารณา พร้อมตั้งวอร์รูม ติดตามสถานการณ์

วันที่ 26 ตุลาคม 2566 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 2/2566 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้พิจารณามาตรการเพื่อใช้รักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 มาตรการ เพื่อรองรับผลผลิตปี 2566/67 ที่จะออกสู่ตลาดมากในเดือนพฤศจิกายนนี้

โดยมาตรการที่คณะกรรมการได้พิจารณาทั้ง 2 มาตรการ ได้แก่

1. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67 เพื่อดูดซับอุปทานในช่วงออกสู่ตลาดมาก และเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้รวบรวม โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ 4% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากโครงการในปีที่ผ่านมาที่ 3% เนื่องจากในภาวะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ได้ปรับตัวสูงขึ้น

2. สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 เป็นการเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันเกษตรกร โดยสถาบันฯ รับภาระดอกเบี้ย 1% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยภาครัฐจะเป็นผู้ชดเชยเพิ่มเติมให้

นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยคาร์บอนอันจะทำให้เกิดสภาวะก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์โดยเฉพาะในอาหารไก่ ซึ่งไทยส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ให้ประเทศมูลค่าหลายล้านบาทในแต่ละปี

ดังนั้นเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้สอดคล้องกับการค้าโลก โดยมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานร่วมกัน ที่จะมาทำหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริมการผลิตที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐานและสอดคล้องกับการค้าโลก

รวมทั้ง ประธาน นบขพ. ยังได้สั่งการให้มีการตั้งวอร์รูม (War Room) โดยให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ เอกชน และเกษตรกร ร่วมกันทำงานในเชิงรุก ในการติดตามสถานการณ์ กำกับดูแล ทั้งด้านการผลิต การตลาด การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน ให้มีความสมดุลเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ

แม้ราคาในช่วงนี้มีแนวโน้มอ่อนตัวเล็กน้อยแต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีที่ กก.ละ 10.15 บาท และสูงกว่าราคาเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา ประธาน นบขพ. จึงได้สั่งการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการให้เกิดความสมดุล เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งเกษตรกร ผู้รวบรวม โรงงานอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์ ตลอดทั้งห่วงโซ่ให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน