บังกี้ จับมือ กรุงเทพโปรดิ๊วส ยกระดับระบบตรวจสอบย้อนกลับถั่วเหลืองไม่ทำลายป่า

บังกี้ จับมือ กรุงเทพโปรดิ๊วส ประกาศยกระดับระบบตรวจสอบย้อนกลับถั่วเหลืองด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน มาจากแหล่งที่ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ส่งต่อ CPF หนุนใช้วัตถุดิบอาหารมาจากแหล่งตรวจสอบย้อนกลับได้

วันที่ 28 ตุลาคม 2566 นายไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรุงเทพโปรดิ๊วส และนายฮูลิโอ จาเวียร์ การ์รอส ประธานบริหารร่วม ธุรกิจการเกษตร ประจำ เซา เปาโล บังกี้ เซ็นต์ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) บูรณาการร่วมกันพัฒนาและเชื่อมต่อระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาถั่วเหลืองและวัตถุดิบจากถั่วเหลืองที่มาจากแหล่งที่ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน

โดยมี นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เป็นสักขีพยาน พร้อมกับ นายพีรพงศ์ กรินชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานวิศวกรรมกลาง ซีพีเอฟ และคริสโตส ดิโมพูโลส ประธานบริหารร่วม ธุรกิจการเกษตร ประจำ เจนีวา บังกี้ ณ ซีพี ทาวเวอร์ สีลม กรุงเทพ

ข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมวัตถุดิบทางการเกษตรที่จัดหาในประเทศบราซิลโดยบังกี้ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ซีพีเอฟในประเทศไทย และกิจการในต่างประเทศ ขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานอาหารของซีพีเอฟทั่วโลกที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

บริษัท บังกี้ จำกัด (BUNGE) และ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบหลักอาหารสัตว์ ให้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ

ซึ่งทั้งสองบริษัท จะร่วมกันบูรณาการข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิทัล และเชื่อมต่อการตรวจสอบข้อมูลด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อสร้างความแม่นยำและความน่าเชื่อถือของฐานข้อมูลจากระบบการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของถั่วเหลือง ตั้งแต่การเพาะปลูก จนถึงปลายทางโรงงานอาหารสัตว์ของซีพีเอฟ เพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั่วโลกว่าห่วงโซ่อุปทานอาหารซีพีเอฟไม่บุกรุกทำลายป่า

นายไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสของระบบตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่อุปทานอาหารของซีพีเอฟได้มากยิ่งขึ้น ความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจระดับโลกนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้าให้กับผู้บริโภคทั่วโลก สอดคล้องกับความมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายห่วงโซ่อุปทานคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2593 (Net-Zero : 2050)
“บริษัทฯ มุ่งมั่นสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตร รวมถึงถั่วเหลืองจากทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้บริษัทฯ สามารถตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ถึงแหล่งปลูกที่ไม่บุกรุกป่า หรือตัดไม้ทำลายป่า” นายไพศาลกล่าว

โรสซาโน ดิ อันเจลิส จูเนียร รองประธานฝ่ายธุรกิจการเกษตรเขตอเมริกาใต้ บังกี้ กล่าว ว่า บังกี้ ต้องการเป็นพันธมิตรที่ส่งมอบวัตถุดิบหลักทางการเกษตรที่ยั่งยืน ความร่วมมือกับ กรุงเทพโปรดิ๊วส ในครั้งนี้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยยกระดับห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยั่งยืน ที่ผ่านมาบริษัทฯ สร้างระบบการประเมินคู่ค้าธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยเพิ่มความแม่นยำและความน่าเชื่อถือของห่วงโซ่อุปทานให้สูงขึ้น

ระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาถั่วเหลืองของบังกี้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกในทวีปอเมริกาใต้ มากกว่า 16,000 แห่ง หรือ ประมาณ 20 ล้านเฮกตาร์ ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมที่ล้ำสมัย สามารถระบุและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการปลูกถั่วเหลืองในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ บริษัทฯ สามารถตรวจสอบย้อนกลับถั่วเหลืองที่จัดหาในทางตรงและทางอ้อมในบราซิลได้อย่างครบถ้วนภายในปี 2525 (พ.ศ.2568) ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ร้อยละ 97 ของปริมาณถั่วเหลืองที่จัดหาจากพื้นที่เสี่ยงของบังกี้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดิน ความร่วมมือของบริษัทชั้นนำระดับโลกจะเสริมสร้างศักยภาพ และมาตรฐานความโปร่งใสในการจัดหาถั่วเหลืองจากประเทศบราซิลเป็นไปตามหลักสากล เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั่วโลก

นอกจากนี้ บังกี้และกรุงเทพโปรดิ๊วส ยังมุ่งมั่นบูรณาการความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทานการจัดหาถั่วเหลืองอย่างต่อเนื่อง เช่น การถ่ายโอนและแสดงผลข้อมูลบนระบบแบบเรียลไทม์ การวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของถั่วเหลือง การยกระดับการจัดหาสู่รูปแบบ Segregation ตลอดจนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านความยั่งยืนในการจัดหาถั่วเหลืองที่รับผิดชอบ เช่น Round Table on Responsible Soy (RTRS) และ International Sustainability & Carbon Certification (ISCC)