ก.เกษตรฯ MOU 5 ฝ่าย ต่อยอดทักษะเทคโนโลยีจากแรงงานอิสราเอลสู่เกษตรสมัยใหม่

ประยูร อินสกุล

กระทรวงเกษตรฯจัดพิธีลงนาม MOU 5 ฝ่าย หวังต่อยอดงานด้านเทคโนโลยีเกษตรจากแรงงานอิสราเอลสู่การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ในไทย พร้อมรองรับแรงงานที่ประสบปัญหาจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรจากแรงงานอิสราเอลสู่การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงแรงงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การ MOU ครั้งนี้เพื่อเตรียมการรองรับแรงงานเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพในประเทศไทยได้ โดยเฉพาะผู้มีทักษะด้านการเกษตร ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 ฝ่าย

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาแรงงานภาคการเกษตรกลุ่มนี้ให้พร้อมเข้าสู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตร หรือมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร รวมถึงยกระดับภาคการเกษตรด้วยความรู้ ประสบการณ์ และความชำนาญของแรงงานที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่จากรัฐอิสราเอล ภายใต้ข้อจำกัดด้านดิน น้ำ สภาพอากาศ

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มีระยะเวลา 2 ปี มีเป้าหมายในการพัฒนาแรงงานภาคเกษตร 7,500 คน ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ

1) กิจกรรม “ปั้น” สู่ครูพี่เลี้ยง โดยคัดกรองแรงงานเกษตรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย มีความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากอิสราเอล และมีความสามารถเป็นที่ปรึกษาฟาร์มเกษตรได้

โดยภาครัฐจะเติมเต็มด้านเทคนิคการถ่ายทอดความรู้ และกำหนดหลักสูตรการอบรมเจ้าหน้าที่และเกษตรกร ภายใต้โครงการต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับความรู้ความสามารถของครูพี่เลี้ยง เพื่อยกระดับความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรของเกษตรกรไทย

2) กิจกรรม “ป้อน” สู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตร โดยการรวบรวมข้อมูลความรู้ ความสามารถ และทักษะของแรงงานไทยจากอิสราเอลที่ประสงค์จะเข้าสู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรม ส่งต่อให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรตามความสามารถและความถนัดต่อไป

ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องเพิ่มเติมทักษะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการจัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะรองรับการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตรต่อไป

3) กิจกรรม “ปู” ทางอาชีพเกษตรกรรมสู่บ้านเกิด ในกลุ่มที่ไม่ประสงค์จะกลับไปรับจ้างแรงงานในอิสราเอล และประสงค์เข้าสู่อาชีพภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำและเป็นพี่เลี้ยง เพื่อร่วมวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ คนและสินค้า ตลอดห่วงโซ่การผลิต ประกอบการตัดสินใจเลือกกิจกรรมผลิตทางการเกษตร

รวมถึงการให้ความรู้ในการจัดทำแผนธุรกิจเกษตรประกอบการขอสินเชื่อในการประกอบอาชีพภาคการเกษตรจากสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยคาดหวังว่า แรงงานไทยจากอิสราเอลเมื่อเข้าสู่อาชีพภาคการเกษตรจะสามารถนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีแม่นยำสูง ที่ได้รับการฝึกทักษะจากอิสราเอล

มาประยุกต์ใช้ในการผลิตทางการเกษตร สามารถเป็นต้นแบบฟาร์มเกษตรอัจฉริยะสู่การพัฒนาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ขยายผลเทคโนโลยีและการบริหารจัดการฟาร์มได้ต่อไป

“การลงนามบันทึกความเข้าใจนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือของหน่วยงานภาคีในการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรจากแรงงานอิสราเอลสู่การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ และผลักดันให้เกิดการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ มีนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม พร้อมด้วยนางสาวภัทรันดา แสงมหะหมัด รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

ประยูร อินสกุล
ประยูร อินสกุล

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากปัญหาสงครามในอิสราเอลซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานของประเทศไทยราว 8,345 คน ซึ่งแรงงานดังกล่าวได้รับการพัฒนาและทักษะ องค์ความรู้ประสบการณ์ที่มีศักยภาพด้านการเกษตรที่จะเป็นส่วนสำคัญในช่วยยกระดับและพัฒนาระบบเกษตรของประเทศไทย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมที่จะช่วยแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ภายใต้การดำเนินการโครงการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรจากแรงงานอิสราเอลสู่เกษตรสมัยใหม่

และได้ดำเนินการบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับ 5 หน่วยงานสำคัญ ที่จะร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือช่วยเหลือแรงงานไทยภาคเกษตรที่มีความรู้ความสามารถที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาแรงงานภาคการเกษตรให้มีความพร้อมเพื่อเข้าสู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตร หรือมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรต่อไป

เพื่อร่วมมือยกระดับภาคเกษตร การถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญของแรงงานที่ได้รับการถ่ายทอดเกษตรสมัยใหม่จากอิสราเอล เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาแรงงานเพื่อสู่พี่เลี้ยง โดยโครงการทักษะนี้จะเป็นครูพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา

และสร้างความเชื่อมั่นการทำงานเกษตรแบบสมัยใหม่ สู่การสร้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตรและพัฒนาเตรียมทักษะรองรับการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมและปูทางเกษตร และเตรียมความพร้อมยกระดับศักยภาพธุรกิจการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตรต่อไป

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือช่วยเหลือแรงงานไทยภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในอิสราเอลซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ

รวมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานภาคการเกษตรให้มีความพร้อม เพื่อเข้าสู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตร หรือมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยความร่วมมือครั้งนี้มีระยะเวลา 2 ปี และมีเป้าหมายในการพัฒนาแรงงานภาคเกษตร 7,500 คน

อย่างไรก็ดี การร่วมมือในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในอิสราเอล ซึ่งเป็นผู้ที่มีทักษะด้านการเกษตร และทางกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีงานทำ แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง ตลอดจนการส่งเสริมทักษะแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถ และขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจไทย

“กระทรวงแรงงานจะร่วมพัฒนาแรงงานภาคการเกษตรกลุ่มนี้ให้พร้อมเข้าสู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตร หรือมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ซึ่งนับเป็นการร่วมยกระดับภาคการเกษตรของไทย ด้วยความรู้ ประสบการณ์ และทักษะความชำนาญของแรงงานไทยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่จากอิสราเอล

ดังนั้น แรงงานไทยที่ไปทำงานภาคการเกษตรที่อิสราเอล หลายคนนอกจากจะสามารถเก็บเงินกลับมาบ้านได้แล้ว ยังนำประสบการณ์มาปรับใช้ และประกอบอาชีพที่ประเทศไทยได้อีกด้วย”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส แรงงานภาคเกษตรไทย ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ และแรงงานนี้ยังมีศักยภาพสูง เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้ และการใช้เทคโนโลยีการเกษตร จากผู้ประกอบการและนายจ้างในประเทศอิสราเอล

ด้วยเหตุนี้ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีการหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือแรงงานไทยภาคการเกษตรที่มีความรู้ ช่วยถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้เพื่อยกระดับภาคการเกษตรไทยในระยะถัดไป จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)

หอการค้าไทยเล็งเห็นถึงโอกาสในการนำความรู้และประสบการณ์ของแรงงานเกษตรกลุ่มนี้มาปรับใช้ เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของไทย สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดในการประกอบอาชีพเกษตร โดยจะเชื่อมโยงแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการเข้าสู่การจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร

ปัจจุบันเป็นบริษัทสมาชิกของหอการค้า อาทิ บ.มิตรผล บ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CP) บ.สยามคูโบต้า ฯลฯ รวมถึงบริษัทที่เป็นสมาชิกของหอการค้าทั่วประเทศ 76 จังหวัด ซึ่งส่วนนี้เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้แรงงานไทยส่วนหนึ่งพร้อมเดินทางกลับประเทศ และสามารถมีอาชีพและรายได้ที่สูงตามศักยภาพ รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเกษตรของไทยให้ก้าวหน้าต่อไป