ส่งออกน้ำมะพร้าวเฮ เกาหลีใต้ลดภาษีนำเข้า 0% พาณิชย์เตรียมเริ่ม FTA ต้นปี’67

นภินทร ศรีสรรพางค์

“นภินทร” รมช.พาณิชย์ พบหารือกับรัฐมนตรีการค้า กระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้ โดยร่วมกันตั้งเป้าประกาศเริ่มการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement : EPA) ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ภายในต้นปี 2567 ซึ่งจะเป็นการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับเกาหลีใต้ หวังขยายความสัมพันธ์เพิ่มเติมจาก FTA ที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกันอยู่แล้ว 2 ฉบับ

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้พบหารือกับนายอัน ด๊อก-กึน (Mr. Ahn Deuk-Geun) รัฐมนตรีการค้าของเกาหลีใต้ ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 34 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

โดยการหารือครั้งนี้ ไทยได้ผลักดันให้ศุลกากรของเกาหลีใต้เร่งออกประกาศเพื่อปรับภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าน้ำมะพร้าวแท้ 100% ในอัตรา 0% ภายใต้ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ จากเดิมที่เกาหลีใต้ปรับขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าดังกล่าวไปอยู่ที่ 40% มาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ขององค์การศุลกากรโลก ทั้งนี้ คาดว่าศุลกากรของเกาหลีใต้จะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2567

พร้อมกันนี้ ไทยและเกาหลีใต้ต่างเห็นประโยชน์ของการจัดทำ FTA สองฝ่ายระหว่างกัน อันเป็นการต่อยอดการเปิดเสรีเพิ่มเติมจาก FTA ที่ไทยและเกาหลีใต้มีอยู่แล้วใน FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยเฉพาะการเปิดตลาดเพิ่มเติมในสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ลดเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ

ขณะเดียวกันจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากเกาหลีใต้ในไทยเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเกาหลีใต้มองว่าไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าสำคัญของเกาหลีใต้ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานทดแทน และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศเป้าหมายอื่น ๆ ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงที่จะเร่งรัดกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกาศเริ่มการเจรจา FTA ไทย-เกาหลีใต้ ดังกล่าว

ในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-เกาหลีใต้ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพช่วงต้นปี 2567
นายนภินทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ชักชวนให้เกาหลีใต้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ของเกาหลีใต้ให้แก่ไทยด้วย

เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นแบบอย่างของการดำเนินนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและเป็นที่ชื่นชอบไปทั่วโลก รวมถึงยังได้เชิญชวนให้เกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสีเขียวในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย

ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ อันจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทย

ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของไทย โดยในช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 11,365.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกจากไทยมูลค่า 4,695.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้าจากเกาหลีใต้มูลค่า 6,670.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังเกาหลีใต้

ได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากเกาหลีใต้ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น