BCPG กางแผนกลยุทธ์ปี’67 ดันรายได้โต 30% เดินหน้าตามเป้า 3,000 ล้านบาทปี’73

@ BCPG

BCPG กางแผนกลยุทธ์ปี 2567 ดันรายได้โต 30% เดินหน้าตามเป้า 3,000 ล้านบาทปี 2573 พร้อมลุยต่อเพิ่มพลังงานสะอาด 2,000 เมกะวัตต์ ใน 7 ประเทศเป้าหมาย ด้วยงบฯลงทุนร่วม 14,000 ล้านบาท

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับสื่อมวลชนในงานแถลงข่าว “BCPG Way Forward 2024” ว่า ในปี 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า บีซีพีจีมีแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาว 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านผลประกอบการต้องมีรายได้สุทธิจากการลงทุนตั้งแต่ปี 2566 จนถึง 2573 รวม 3,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีรายได้รวม 9 เดือนอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท

นิวัติ อดิเรก
นิวัติ อดิเรก

2.ด้านการลงทุนต้องมีกำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 2,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 1,250 เมกะวัตต์ และมีที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 750 เมกะวัตต์ และอีกเป้าหมายสำคัญคือ ด้านความยั่งยืนที่ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศที่ลงทุน ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น ลาวและไต้หวัน ภายในปี 2573

ดำเนินงานภายใต้กรอบกลยุทธ์ 3 ด้าน

1. Green Expanded การขยายกำลังการผลิต ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงิน และการต่อยอดการลงทุนในธุรกิจที่เป็น New S-Curve

Advertisment

2. Green Innovation การมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมพลังงานสีเขียว ที่ตอบโจทย์การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. Green Target การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593

กางแผนลงทุนปี 2567

สำหรับในปี 2567 บริษัทได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยกว่า 60% หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท ใช้ในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ในพอร์ตให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ ส่วนอีก 40 หรือประมาณ 6,000 ล้านสำหรับการลงทุนในโครงการใหม่ ซึ่งทิศทางการดำเนินงาน บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งและความเติบโตของธุรกิจหลัก (Core Business) โดยในปี 2567 บริษัทคาดว่า EBITDA จะเติบโตร้อยละ 30

โดยการจัดสรรเงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ ได้แก่

Advertisment

– โครงการพลังงานลม “มอนสูน” โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ขนาด 600 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่แขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ ใน สปป.ลาว ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างทยอยติดตั้งกังหันลม คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมด 133 ต้น ภายในกลางปี 2568 และพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้สิ้นปี 2568

– โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 469 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ จำนวน 58 เมกะวัตต์ได้ในปี 2568 จากนั้นจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์จนครบทั้งหมดภายในปี 2569

– โรงไฟฟ้าพลังงานลมนาบาส-2 ขนาดกำลังการผลิต 13.2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนเกาะวิซายัส เมืองนาบาส สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2568 ตามแผน

รวมถึงล่าสุดบริษัทได้เข้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยขนาดกำลังการผลิต 12.59 เมกะวัตต์ ซึ่งจะดำเนินการซื้อขายแล้วเสร็จพร้อมรับรู้รายได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567 นี้

“ในการลงทุนทุกครั้ง บริษัทคำนึงถึงสัดส่วนการลงทุนที่มีความสมดุล หรือการ Balance Portfolio ที่เหมาะสม ในปีหน้าเราเน้นลงทุนใหม่ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่บริษัทมีฟุตพรินต์อยู่แล้ว และเป็นประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุน” นายนิวัติกล่าว

ธุรกิจ New S-Curve

นายนิวัติเปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้เรายังศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าสู่ธุรกิจที่เป็น New S-Curve อาทิ ธุรกิจกักเก็บพลังงานทั้งสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและสำหรับโรงงาน หรือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว และธุรกิจการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ

สำหรับธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ บริษัทได้มีการต่อยอดการใช้งานระบบกักเก็บพลังงานสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประเภทวานาเดียมรีดอกซ์โฟลว์ในประเทศไทย โดยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานดังกล่าว ให้กับสถานีไฟฟ้าย่อยของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบสายส่ง-สายจำหน่ายของ กฟภ. ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งในขณะนี้บริษัทได้รับอนุมัติให้เริ่มดำเนินการในโครงการนำร่องดังกล่าว ในเขตพื้นที่อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายปี 2567

ส่วนการลงทุนในธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart City and Infrastructure) ได้มีโครงการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling) ในพื้นที่โครงการสามย่านสมาร์ทซิตี้ บริษัทได้เริ่มก่อสร้างระบบผลิตความเย็นในเฟสแรก ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3,000 ตันความเย็น (Refrigeration Tons, RT)

โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในต้นปี 2568 ซึ่งเป็นไปตามกำหนดการใช้ความเย็นของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) และขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนร่วมกับ PMCU เพื่อขยายไปยังเฟสอื่น ๆ ต่อไป ที่กำลังการผลิตติดตั้งรวม 18,000 ตัน ความเย็นในพื้นที่โครงการสามย่านสมาร์ทซิตี้

รวมถึงโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมืองอัจฉริยะ ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนาโครงการผ่านการนำระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Management), ระบบซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างกัน (Energy Trading) และระบบการบริหารจัดการอาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Building Management)

โดยบริษัทลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาอาคารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กว่า 160 อาคาร กำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 12.86 เมกะวัตต์ เพื่อบริหารจัดการพลังงานที่ผลิตได้ และในปี 2567-68 บริษัทจะดำเนินการติดตั้งเพิ่มเติม อีก 2.5 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 15 เมกะวัตต์ พร้อมพัฒนาโซลูชั่นอื่น ๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ในการบริหารจัดการพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างเสถียรภาพของระบบส่งไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัย ที่เปรียบเทียบได้กับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของต้นแบบระบบส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Distribution Grid) คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จต้นเดือนมกราคม 2567