นายกฯถก “บิ๊กส่งออกข้าว” แก้ราคานาปีตกตันละพัน

ราคาข้าวเปลือกนาปีดิ่ง “เศรษฐา” ร้อนใจเรียก บิ๊กส่งออกข้าวท็อป 5 หารือด่วน เอกชนวอนรัฐเร่งเจรจาขายข้าวมะลิ G to G ให้คอฟโก้จีนตกค้างอยู่อีก 280,000 ตัน พร้อมปลดล็อกปัญหาแซงก์ชั่นตลาดอิหร่าน หวังแบงก์ยอมเปิดรับชำระเงิน ด้านบิ๊กโรงสีแฉ ทำไมข้าวนาปีราคาตก ผู้ส่งออกหั่นราคาซื้อตันละพัน-แบงก์ลดแพ็กกิ้งเครดิตซื้อข้าว รอลุ้น นบข.ชดเชยดอกเบี้ยโรงสี 23 พ.ย. 2566

หลังจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้ให้ความ “เห็นชอบ” มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปี 2566/2567 ไปแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ 1) มาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ฝากเก็บยุ้งฉาง) เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงินจ่ายขาด 10,120.71 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อ 34,437 ล้านบาท รวม 44,557 ล้านบาท

2) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงินจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท

และ 3) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว โดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% เท่าเดิม และรัฐช่วยดอกเบี้ย 3.50-3.85% ระยะเวลา 15 เดือน วงเงินจ่ายขาด 481 ล้านบาท (ซื้อขาด)

โดยรัฐบาลได้เร่งดำเนินโครงการทันที ในส่วนของสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ฝากเก็บยุ้งฉาง) รัฐช่วยค่าฝากเก็บเกษตรกรที่มียุ้งฉางตันละ 1,500 บาท ส่วนเกษตรกรรายย่อยทีไม่มียุ้งฉาง ถ้าเก็บที่สหกรณ์แบ่งสหกรณ์ได้ตันละ 1,000 บาท เกษตรกรได้ตันละ 500 บาท และจะสามารถนำข้าวที่ฝากเก็บมาขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ ในราคาข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท,

ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 10,500 ล้านบาท, ข้าวหอมปทุมธานีตันละ 10,000 บาท, ข้าวเจ้าตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียวตันละ 10,000 บาท หากราคาข้าวสูงขึ้น เกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมาเพื่อนำมาจำหน่ายได้

โรงสีโยนผู้ส่งออกทำข้าวดิ่ง

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวระบุว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย ได้เรียกให้ตัวแทน สมาคมผู้ส่งออกข้าวและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ 5 อันดับแรก เข้าพบ เพื่อรับฟังข้อมูลสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง และติดปัญหาอะไรบ้าง จากก่อนหน้านี้ที่การส่งออกข้าวไทยได้รับผลดีจากการที่ประเทศอินเดียชะลอการส่งออกข้าว ในขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 2566/2567 ของประเทศกำลังออกสู่ตลาด ส่งผลทำให้สถานการณ์ราคาข้าวอ่อนตัวลง และรัฐบาลมีความเป็นห่วงราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ

การเรียกสมาคมผู้ส่งออกข้าวและผู้ส่งออกข้าว 5 อันดับแรกของประเทศข้างต้น เกิดขึ้นจากการที่มีผู้ไปร้องเรียนกระทรวงพาณิชย์ เรื่องราคาข้าวเปลือก ทำให้ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกตัวแทนจากกลุ่มผู้ประกอบการโรงสีข้าวเข้าไปพบ สอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ปรากฏทางโรงสีได้แสดงหลักฐานว่า “โรงสีไม่ได้เป็นต้นเหตุในการกดราคารับซื้อข้าว” แต่การตั้งราคารับซื้อข้าวเปลือกลดลงเป็นไปตามราคาข้าวสารที่ทางผู้ส่งออกตั้งซื้อจากโรงสี เมื่อผู้ส่งออกซื้อข้าวในราคาลดลง โรงสีก็ต้องซื้อข้าวสารลดลงเช่นกัน

ยกตัวอย่าง ผู้ส่งออกตั้งราคาซื้อหาบละ 1,450 บาท หรือคิดเป็นตันละ 24,160 บาท หรือลดลงตันละ 1,000 กว่าบาท ทำให้โรงสีต้องปรับลดราคาซื้อข้าวเปลือกลง ประกอบกับช่วงเก็บเกี่ยวมีฝนตกลงมา ทำให้ข้าวมีความชื้นสูง ราคาจึงลดลงไปอีก ทางโรงสีจึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ กดดันให้ผู้ส่งออกข้าวตั้งราคาสูงขึ้นได้ เป็นหาบละ 1,550 บาทก็จะช่วยให้โรงสีสามารถรับซื้อข้าวเปลือกในราคาสูงขึ้นอีกตันละ 500 บาทเช่นกัน

นอกจากนี้ โรงสียังเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาเรื่องการออก “แพ็กกิ้งเครดิตรับซื้อข้าว” ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสมาคมโรงสีข้าวไทยและสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ร้องเรียนไปยังกระทรวงพาณิชย์ว่า สถาบันการเงินได้ลดวงเงินแพ็กกิ้งเครดิตโรงสีลงถึง 50% จากปกติให้ 80-100% ของมูลค่าข้าว ซึ่งหากสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยแพ็กกิ้งเท่าวงเงินเดิมที่เคยได้รับ ก็ทำให้โรงสีส่วนหนึ่ง “ไม่มีกำลังในการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาได้”

วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความล่าช้าของโครงการมาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสีรวบรวมรับซื้อข้าวเปลือกนาปีในอัตรา 4% ซึ่งได้ข้อสรุปว่า จะใช้วงเงินชดเชย 780 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะดูดซับข้าวเปลือก 4 ล้านตัน โดยโครงการนี้จะใช้วงเงินกู้ 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่ามีโรงสีสนใจที่จะเข้าร่วมเก็บฝากข้าวประมาณ 3-3.5 ล้านตัน ปรากฏที่ประชุม นบข.พิจารณาอนุมัติโครงการไม่ทันในวันที่ 10 พย.ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีการเสนอโครงการเข้าไปใหม่ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งก็ต้องรอผลการประชุมต่อไป

ถกปมแซงก์ชั่นอิหร่าน

ด้านนายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการบริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตนเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้เข้าร่วมประชุม Top 5 ผู้ส่งออกข้าวกับท่านนายกรัฐมนตรี โดยมีการรายงานสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับราคาข้าวว่าได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว โดยขณะนี้สถานการณ์ส่งออกตลาดไปได้ดีต่อเนื่อง และมีแนวโน้มการส่งออกข้าวในช่วงโค้งสุดท้าย ตลาดข้าวจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น มีการเจรจาขายข้าวให้กับอิรัก ประมาณ 1-2 ลำเรือ แต่เป็นชนิดข้าวขาว คาดว่า “จะได้ข้อสรุปเร็วนี้”

อย่างไรก็ตาม ทางผู้ส่งออกรวมถึงตนต้องการให้รัฐไปช่วยกระตุ้นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิ ซึ่งจะออกผลผลิตในรอบนาปี แต่ตอนนี้ตลาดส่งออกเดิมที่เคยส่งออกได้หายไป โดยเฉพาะตลาดอิหร่าน ติดปัญหาที่ไม่สามารถส่งออกข้าวได้ เพราะประเทศอิหร่านถูกสหรัฐดำเนินมาตรการแซงก์ชั่น ซึ่งประเด็นนี้ทางท่านนายกรัฐมนตรีระบุว่า สินค้าข้าวเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นเรื่องแซงก์ชั่น แต่อาจจะเป็นไปได้ว่ามีบางส่วนที่ไม่เข้าใจ จึงทำให้ธนาคารไม่กล้ารับชำระเงิน ซึ่งท่านนายกได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร

“เอกชนบอกว่า ทุกครั้งการส่งออกไปอิหร่านต้องผ่านอเมริกา ทำให้หลายแบงก์กังวลว่า หากถูกขอให้ตรวจสอบจะทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ แบงก์ไม่ได้รับชำระเงิน ท่านนายกฯจึงสั่งการให้ประสานทางทูตอเมริกา ขอทราบคำยืนยันว่าสินค้าอาหารเป็นสินค้าที่จะไม่มีการใช้มาตรการแซงก์ชั่นจริงหรือไม่ เพื่อจะได้ไปประสานกับแบงก์ต่อไป หากสำเร็จจะช่วยให้ไทยสามารถฟื้นตลาดส่งออกข้าวไปอิหร่านได้ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง ราคาแพงที่เคยนำเข้าจากไทยปีละหลายแสนตัน

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ทางผู้ส่งออกเองไม่ได้นิ่งนอนใจ ปรับใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการส่งออกผ่านไปทางตัวแทนไปสวอป เพื่อส่งเข้าไปอีกทางหนึ่ง ไม่ได้ส่งโดยตรง แต่หากสามารถแก้ปัญหานี้ได้ก็จะส่งออกข้าวไปอิหร่านโดยตรงได้” นายศุภชัยกล่าว

G to G จีนค้างอีก 280,000 ตัน

ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวอีกรายหนึ่งที่เข้าประชุมร่วมกับนายกฯเศรษฐา กล่าวถึงการยกระดับราคาข้าวเปลือกนาปี เอกชนเสนอให้รัฐบาลช่วยเร่งเจรจาขยายตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิด้วย จากปัจจุบันที่ผู้ส่งออกดำเนินการเองทั้งหมด ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่าง “หวือหวา” จนทำให้ราคาข้าวเปลือกดีขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรเข้ามาช่วยเสริม

โดยเฉพาะการเร่งเจรจาส่งมอบข้าวที่ขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ G to G ให้กับคอฟโก้ รัฐวิสาหกิจจีนที่เจรจาไปก่อนหน้านี้ ปรากฏเหลือยังข้าวที่ไม่ได้ส่งมอบอีก 280,000 ตัน หากสามารถเร่งให้ทาง คอฟโก้รับมอบข้าวตามคำสั่งซื้อนี้ได้ รวมกับการเจรจาลดอุปสรรคเรื่องการชำระเงินในตลาดอิหร่านที่ถูกแซงก์ชั่น เชื่อว่าจะกระตุ้นทำให้ตลาดส่งออกข้าวในช่วงโค้งสุดท้ายดีขึ้นอีก ไม่ต่ำกว่า 500,000 ตัน

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยเดือนกันยายน 2566 มีปริมาณ 807,775.83 ตัน ส่งผลให้ยอดรวมสะสม 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2566) มีปริมาณ 6,082,135.81 ตัน โดยผู้ส่งออกข้าวที่เป็นท็อปสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) กลุ่มเอเซียโกลเด้นไรซ์ 98,957.18 ตัน รวม 9 เดือน 826,474.53 ตัน 2) กลุ่มนครหลวง 95,893.74 ตัน รวม 9 เดือน 731,424.63 ตัน 3) กลุ่มโกลเด้นแกรนารี่ 85,015.21 ตัน รวม 9 เดือน 487,944 ตัน 4) กลุ่มธนสรรไรซ์ 81,689.77 ตัน รวม 9 เดือน 470,155.04 ตัน และ 5) กลุ่มซีพี 37,959.75ตัน รวม 9 เดือน 402,353.79 ตัน

พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมยังได้รายงานถึงอุปสรรคในการส่งออกจากการขึ้นทะเบียนข้าวพันธุ์ใหม่ล่าช้า ทำให้ไทยขาดสายพันธุ์ข้าวที่จะไปแข่งขันกับคู่แข่งได้ โดยเวียดนามมีการพัฒนาพันธุ์และประสิทธิภาพการผลิต ทำให้สามารถผลิตข้าวได้มากกว่า 1.5 ตันต่อไร่ ไทยผลิตได้เพียงแค่ 400 กว่ากิโลกรัมต่อไร่ ดังนั้นจึงได้ขอให้ช่วยกรมการข้าวเร่งดำเนินการเรื่องนี้