นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไม่ขัด หากคิดเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่

ข้าวไทย

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว ชี้เห็นด้วยหากจะเปลี่ยนชื่อ ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ เป็นข้าวหอมมะลิ ย้ำการซื้อ-ขาย ขึ้นอยู่กับแบรนด์ดิ้งและการทำตลาดของผู้ส่งออก หากเน้นการทำตลาดโดยตัว DNA มองว่าลำบาก

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ เป็นข้าวหอมมะลิ ในความเห็นของตนเองเห็นด้วย เพราะผมเชื่อว่าลูกค้าที่ซื้อสินค้าให้ความสนใจในเรื่องของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่เราจำหน่ายให้ และถ้าอยากจะให้พิสูจน์ว่าเป็นข้าวหอมมะลิในพื้นที่ไหนจำเป็นจะต้องมีการตรวจ DNA ซึ่งมีขั้นตอนและรายละเอียดพร้อมถึงค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก

ดังนั้นจึงเห็นว่าหากจะเปลี่ยนข้าวหอมนอกพื้นที่เป็นข้าวหอมมะลิเพื่อยกระดับราคาให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นรายได้ให้กับชาวนาก็สามารถจะทำได้เลย

“เห็นว่าถ้าหากจะทำตลาดข้าวโดยใช้การตรวจ DNA ถ้าทำก็มีแต่กับจะเจ๊ง เพราะทำตลาดข้าวอาศัยการทำแบรนด์ดิ้ง การเจรจา ซื้อ-ขายกับลูกค้า และปัจจุบันการขายข้าวหอมมะลิ ส่วนใหญ่จะนิยมข้าวที่มีการผสม เพราะลูกค้าที่เป็นตลาดสำคัญ อย่างเช่น กลุ่มคิวบา เม็กซิโก หุงข้าวไม่เป็น หากแฉะเกินไป หรือหอมก็จะไม่ค่อยนิยมมากนัก”

ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิก็มีการกระจายปลูกไปทั้งในพื้นที่ภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี ปทุมธานี และนอกจากนี้ยังพบว่าบางครั้งลูกค้าก็นิยมซื้อข้าวหอมมะลิภาคกลาง และราคาระหว่างข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ และข้าวหอมมะลิก็มีการปรับขึ้นลงราคาไม่ต่างกันมากนัก

อย่างไรก็ดี การขายข้าวให้กับลูกค้าของผู้ส่งออก ส่วนใหญ่ทำตลาดด้วยแบรนด์สินค้า และลูกค้าก็จะเชื่อมั่นในบริษัท แต่หากลูกค้าต้องการข้าวที่ระบุมีการตรวจ DNA จำเป็นจะต้องยอมรับในราคาและต้นทุนที่สูงขึ้น

เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้การขายขึ้นอยู่กับการทำตลาด และการตกลงซื้อ-ขาย และลูกค้าเชื่อใจก็ถือว่าเป็นอันสิ้นสุด และปกติก็ไม่ค่อยได้จำเป็นจะต้องมีการพิสูจน์หรือตรวจสอบระบุ DNA ของพื้นที่การปลูกข้าวนั้น ๆ แต่อย่างใด และที่ผ่านมาก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าข้าวที่กองอยู่ตรงนั้นมาจากไหน