สรุปประเด็นเปลี่ยนชื่อ “ข้าวหอมมะลิ” ควรหรือไม่ควร

อนุกรรมการการผลิตฯ ชง นบข.พิจารณาเปลี่ยนชื่อหอมมะลินอกพื้นที่เป็น ข้าวหอมมะลิ รับลูกสมัชชาคนจนร้องขอเปลี่ยน เหตุขายข้าวหอมมะลิจังหวัดราคาต่ำกว่าข้าวหอมมะลิ 2 พันบาทต่อตัน ด้านเอกชนแจงเหตุที่ราคาต่างกันตามความบริสุทธิ์ ค่าความหอม หวั่นเปลี่ยนชื่อกระทบตลาดข้าวหอมมะลิทั้งตลาดราคาร่วง

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ซึ่งมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน วันนี้ (10 พ.ย. 66) มีการพิจารณาวาระเรื่อง การปรับเปลี่ยนชื่อข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ เพื่อเสนอการคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ

แหล่งข่าวในวงการข้าวระบุว่า ประเด็นนี้หลายฝ่ายยังมีการตั้งข้อสังเกตและเห็นต่างกัน กล่าวคือเดิมการปลูกข้าวหอมมะลิของไทยเป็นข้าวสายพันธุ์ที่เรียกว่า “ข้าวขาวดอกมะลิ 105” มีคุณภาพความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ จะถูกปลูกอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยาเท่านั้น

โดยข้าวชนิดดังกล่าวจะปลูกได้เพียง 1 รอบต่อปีในฤดูนาปีในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ดินอุดมสมบูรณ์ ส่งผลต่อค่าความบริสุทธิ์ (Purity) และความหอมของข้าว จนในสมัยก่อนข้าวหอมมะลิเป็นกลิ่นหอมมาก ไม่ว่าจะถูกนำไปสี หรือหุงที่บ้านหลังไหนก็ต้องได้กลิ่นความหอมดอกมะลิฟุ้งกระจายไปทั่ว จึงทำให้ข้าวหอมมะลิมีเอกลักษณ์และราคาสูงกว่าข้าวชนิดอื่น ๆ รวมถึงเมื่อกำหนดราคาประกันหรือราคาจำนำก็จะได้ระดับราคาที่สูงสุดด้วย

ขณะที่ ข้าวหอมมะลิ 105 ชนิดเดียวกัน เมื่อนำปลูกนอกพื้นที่ 23 จังหวัด จะถูกเรียกว่า “ข้าวหอมมะลิจังหวัด” และในภายหลังเปลี่ยนมาเป็น “ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่” ซึ่งจะขายได้ในระดับราคาที่ต่ำกว่าข้าวหอมมะลิ

ล่าสุดสมัชชาคนจนได้รวบรวมความเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่นอกเขต 23 จังหวัด และทำเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ เพื่อขอให้ “ปรับเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ให้เป็น ‘ข้าวหอมมะลิ’ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566” ด้วยเหตุผลว่า ราคาข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ต่ำกว่าข้าวหอมมะลิตันละ 2,000 บาท (ซึ่งจริง ๆ ต่ำกว่ามานานแล้ว) และได้เคยมีการเสนอมาหลายครั้งแล้ว

ต่อมากรมการข้าว ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 เพื่อให้พิจารณาเปลี่ยนชื่อตามข้อเรียกร้อง พร้อมทั้งระบุเหตุผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านการตลาด เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2555 ที่เห็นว่าไม่ควรเปลี่ยนชื่อ ข้าวหอมมะลิจังหวัดเป็นข้าวหอมมะลิ

กระทั่งต่อมากรมการข้าวเองก็มีการเก็บตัวอย่างข้าวเกือบ 800 ตัวอย่าง ทั้งข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่และนอกพื้นที่ พบว่าเป็นไปตามมาตรฐานหอมมะลิไทย แต่อย่างไรก็ตาม “สารความหอม” และ “ความเหนียวนุ่ม” ของข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ยังน้อยกว่าข้าวหอมมะลิ

ด้านการตลาด มองว่าราคาข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ต่ำกว่าราคาข้าวหอมมะลิเฉลี่ยตันละ 250-800 บาทต่อตัน หรือประมาณ 3-6% เท่านั้น ซึ่งในทางการค้าควรให้มีการแยกชนิดข้าว เพราะราคาจะต่างกันตามคุณภาพข้าว หากมีการเปลี่ยนชื่อก็อาจจะส่งผลให้ราคาข้าวหอมมะลิภาพรวมลดต่ำลงได้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงในแง่การผลิตข้าวปกติไทยจะปลูกข้าวหอมมะลิได้ รวม 9.6 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี

ซึ่งเป็นข้าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.7 ล้านตัน และข้าวจากภาคเหนือ 3 จังหวัด 314,642 ตัน รวม 8 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 84% ขณะที่ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่มีปริมาณ 1.58 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 16% ดังนั้น สำหรับภาพรวมของตลาดการปรับเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลิจึงไม่น่าจะส่งผลดีมากนัก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ นบข.จะพิจารณาอย่างไร