หว่านแสนล้านอุ้มราคาข้าว รัฐแจกเพิ่มชาวนาไร่ละพัน

นาข้าว
ภาพจาก : freepik

ฝุ่นตลบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวนาปี 66/67 ของ นบข. “เศรษฐา” จ่ายหนักแซง “ลุงตู่” จ่ายเพิ่มให้ทั้งชาวนา-โรงสี-ผู้ส่งออก-ข้าวถุงกันถ้วนหน้า ต้องใช้งบฯ 100,000 ล้านบาท ด้านเอกชนหวั่นมาตรการคลอดไม่ทัน หลัง 1 พ.ย. 66 ผลผลิตนาปีทะลักแล้ว ภาครัฐชี้ส่งออกดี ราคาข้าวเปลือกยังพุ่ง 2,500 บาท วิจารณ์แซด ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวก็ได้

แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาระบุว่า มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปี 2566/2567 ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำจนล่วงเลยระยะเวลาที่ต้องบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนไปแล้วนั้น แท้จริงเป็นผลมาจาก “อินเดีย” ประกาศมาตรการชะลอการส่งออกข้าวบางชนิดในช่วงที่ผ่านมา

ส่งผลทำให้ยอดการส่งออกข้าวไปได้ดี ราคาข้าวในตลาดปรับสูงขึ้นจนเรียกได้ว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกเลยก็ว่าได้ ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในวงการค้าข้าวถึงมาตรการที่ออกมาครั้งนี้

ฝุ่นตลบ นบข.

แหล่งข่าวในคณะกรรมนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหารือใน นบข. เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฏที่ประชุมมีการหารือกันอย่างราบรื่นและไม่มีใครคัดค้านมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปี 2566/2567 ตามที่ กรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ นบข. นำมาเสนอ

แต่ปรากฏว่าหลังจากการปิดประชุมและออกมาแถลงข่าวกลับมีข่าวที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือจนเกิดความสงสัยว่า เกิดเหตุการณ์ใดในที่ประชุม นบข. เมื่อกระทรวงพาณิชย์ออกมาแถลงว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวนาปี แต่กรมการค้าภายในกลับออกแถลงการณ์ในวันเดียวกันว่า “นบข.ได้ข้อสรุปมาตรการแล้ว” แต่ก็ยังไม่ชัดเจนในรายละเอียดและการปฏิบัติ

ทั้ง ๆ ที่มีกำหนดว่า จะต้องเริ่มต้นการใช้มาตรการในวันที่ 1 พ.ย. 2566 เพื่อให้ทันข้าวนาปีที่จะต้องเก็บเกี่ยว จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เป็นผลมาจากการทำงานของคณะกรรมการ นบข. ที่มาจากคนละพรรคการเมืองหรือไม่

ต่อมาในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ได้เรียกหารือ “เฉพาะหน่วยงานราชการ” ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการค้าภายใน กรมการข้าว สำนักงบประมาณ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ข้อสรุปที่ปรากฏออกมาว่า ทุกมาตรการจะสามารถบังคับใช้ได้ “ยกเว้น” เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ที่จะตามออกมาอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2566

เปิดมาตรการข้าว 1 แสนล้าน

ภูมิธรรม เวชยชัย
ภูมิธรรม เวชยชัย

ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ได้ประชุมร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งโรงสีข้าว-ผู้ส่งออกข้าว และเกษตรกร ไปถึง 3 รอบ (วันที่ 14 ก.ย.-11 ต.ค.-30 ต.ค.) ตามลำดับ

ได้ข้อสรุปมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 2566/ 2567 เพื่อที่จะเสนอต่อที่ประชุม นบข. วันที่ 1 พ.ย. 2566 รวม 4 โครงการ วงเงินรวม 103,480.03 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11,891.94 ล้านบาท จากมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปี 2565/2566 ที่ใช้วงเงินรวม 91,588.09 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินสินเชื่อ 34,437 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 69,043.03 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็น 1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (รับฝากเก็บยุ้งฉาง) ได้เพิ่มเป้าหมายจาก 2.50 ล้านตัน เป็น 3 ล้านตัน โดยกำหนดราคาข้าวเปลือกที่จะรับฝากเก็บเพิ่มทุกชนิดตั้งแต่ 1,000-3,600 บาทต่อตัน ดังต่อไปนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 11,000 บาท เพิ่มอีก 1,000 บาท เป็น 12,000 บาท, ข้าวเปลือกหอมมะลิจังหวัดตันละ 9,500 บาท เพิ่มอีก 1,000 บาท เป็น 10,500 บาท,

ข้าวเปลือกปทุมธานีตันละ 7,300 บาท เพิ่มอีก 2,700 บาท เป็น 10,000 บาท, ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 5,400 บาท เพิ่มอีกตันละ 3,600 บาท เป็น 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาท เพิ่มอีก 1,400 บาท เป็น 10,000 บาท จากปริมาณเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น 500,000 ตัน และราคาที่ให้เพิ่มขึ้นทำให้คาดการณ์ว่า จะใช้วงเงินเพิ่มขึ้น 8,847 ล้านบาท จากปีก่อนที่ใช้ 25,590 ล้านบาท เป็น 34,437 ล้านบาท

2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการที่จะช่วยรับฝากเก็บข้าวเปลือก โดยมีการปรับเพิ่มเป้าหมายรับฝากข้าวเปลือกจาก 4 ล้านตัน เพิ่มเป็น 10 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 6 ล้านตัน และเพิ่มอัตราชดเชยดอกเบี้ยอีก 1% จาก 3% เป็น 4% ที่สำคัญปีนี้ยังมีการขยายขอบเขตชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการข้าวถุงเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ให้เฉพาะ “โรงสีข้าว” เท่านั้น ถือว่าเป็นโครงการที่มีการขยายสูงสุด ทำให้คาดการณ์ว่า การใช้วงเงินในโครงการนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 540 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,120 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,580 ล้านบาท

แน่นอนว่าภาคเอกชนน่าจะเฝ้ารอการประกาศใช้มาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการมากที่สุด เพราะในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มโรงสีประสบปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน จนปรากฏเป็นข่าวหลายครั้งว่า สถาบันการเงินเข้มงวด กับการปล่อยแพ็กกิ้งเครดิต อีกทั้งยังลดวงเงินโรงสี

“มาตรการนี้จึงถือเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์มากที่สุด วิน-วินกับทุกฝ่าย” เพราะโรงสีมีหลักร้อยโรงที่จะมาช่วยรับซื้อข้าว ขณะที่ผู้ส่งออกก็ต้องสำรองเงินเพื่อจ่ายค่าข้าวให้กับโรงสี เช่นเดียวกับผู้ผลิตข้าวถุงที่เปรียบเสมือน “คลังสำรองข้าวในประเทศ” หากเกิดภาวะเอลนีโญแล้วภัยแล้งหนักในปีหน้า จะทำให้ไทยยังมีข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภค

3) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันการผลิต เช่น วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ต่าง ๆ โดยโครงการนี้คงเป้าหมายข้าวไว้ที่ 1 ล้านตัน “เท่าเดิม” ซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินกู้เท่าเดิมที่ 10,000 ล้านบาท เพียงแต่จะต้องเพิ่มวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเพิ่มจาก 4% เป็น 4.85% หรือจาก 375 ล้านบาท เป็น 481.25 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 106.25 ล้านบาท

และโครงการสุดท้าย คือ 4) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยยังคงมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือนเท่าเดิม ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท จำกัดวงเงินให้ไม่เกิน 20 ไร่/ราย หรือเท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโครงการที่ใช้วงเงินสูงสุดและเป็นวงเงินจ่ายขาด คือ 56,0321.07 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้วงเงิน 55,083.09 ล้านบาท

โดยรายละเอียดของการใช้เงินในโครงการนี้จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ รัฐจะช่วยปัจจัยการผลิต 54,336.14 ล้านบาท เและจ่ายค่าบริหารจัดการ 23.40 ล้านบาท เท่ากับปีที่ผ่านมา แต่วงเงินส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนของการชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส. นั้นจะมีการปรับเพิ่มขึ้นจาก 723.56 ล้านบาท เป็น 1,961.53 ล้านบาท สูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส.ที่อยู่ในภาวะขาขึ้น

ด้านแหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.ระบุว่า วงเงินใน 3 โครงการหลักคือ สินเชื่อชะลอการขาย (ยุ้งฉาง), สินเชื่อให้สถาบันเกษตรกรรวบรวมข้าว และการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าว จะมีแหล่งเงินจากการจัดสรรงบฯรายจ่ายประจำปี ธ.ก.ส. ต่างจากเงินช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้เอกชนจะเป็น “เงินงบฯกลาง” ซึ่งทาง ธ.ก.ส.ได้ทำหนังสือแจ้งอัตราการขอชดเชยต่อ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการ นบข. เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 ซึ่งอัตรานี้จะใช้กับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวและข้าวโพดเช่นเดียวกัน

ส่องบัญชีสมดุลข้าวไทยปี’66/67

อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์เข้ามาว่า ในปีนี้รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกไทย เนื่องจากสถานการณ์การผลิตข้าวไทยปี 2566/2567 มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีลดลงเล็กน้อยจาก 62.84 ล้านไร่ เหลือ 61.93 ล้านไร่ ลดลง 0.91 ล้านไร่ หรือลดลง 1%

และผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกมา 25.57 ล้านตัน จากปีก่อน 26.71 ล้านตัน ลดลง 1.14 ล้านตัน หรือลดลง 4% ส่วนนาปรังคาดว่าผลผลิตข้าวจะมี 6.78 ล้านตัน ลดลง 0.94 ล้านตัน จากปีก่อน 7.72 ล้านตัน ทำให้คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะผลิตข้าวสารทั้งปีได้ประมาณ 20 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่ 21 ล้านตันเศษ

ตารางอุ้มราคาข้าว

เทียบกับความต้องการใช้ข้าวสาร ภาพรวมเพิ่มขึ้นจาก 17.79 ล้านตัน เป็น 18.16 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 3.7 แสนตัน โดยเพิ่มทั้งในส่วนของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยปีนี้คาดว่าจะส่งออกข้าวได้ 8 ล้านตัน จากปีก่อนที่ส่งออกได้ 7.71 ล้านตัน

ซึ่งจนถึง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) 2566 ปรากฏไทยส่งออกข้าวไปแล้ว 6.08 ล้านตัน (ไทยเป็นเบอร์ 3 ของโลก รองจากอินเดียที่ส่งออกได้ 14.87 ล้านตัน และเวียดนามส่งออกได้ 6.26 ล้านตัน) ส่วนตลาดข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 10.08 ล้านตัน เป็น 10.13 ล้านตัน ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากการที่รัฐบาลใช้มาตรการฟรีวีซ่า ทำให้ภาคการท่องเที่ยวคึกคัก มีการบริโภคข้าวภายในมากขึ้น

ราคาข้าวเปลือกพุ่ง 2,500 บาท/ตัน

การส่งออกข้าวที่ดีขึ้นยังสะท้อนถึงสถานการณ์ราคา แม้ว่าราคาส่งออกข้าว FOB เดือนกันยายน 2566 เทียบกับเดือนก่อนหน้านั้นจะอ่อนตัวลงทุกชนิด โดยราคาข้าวขาว 5% ไทยอ่อนตัวลงจากตันละ 610 เหรียญ เหลือ 570 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 40 เหรียญ ขณะที่ราคาเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 610 เหรียญ เป็น 640 เหรียญ

ส่วนข้าวหอมมะลิไทยอ่อนตัวลงจาก 865 เหรียญ เหลือ 820 เหรียญ ด้านข้าวหอมมะลิเวียดนามทรงตัว 720 เหรียญ ข้าวนึ่งราคาก็อ่อนตัวลงจากตันละ 610 เหรียญ เหลือ 575 เหรียญ คู่แข่งข้าวนึ่ง คือ อินเดีย ราคาอ่อนตัวเล็กน้อย จาก 565 เหรียญ เหลือประมาณ 540 เหรียญ

แต่ฝั่งราคาข้าวเปลือกที่ซื้อภายในประเทศกลับพบว่า มีราคา “เพิ่มขึ้น” ทุกชนิดข้าว โดยราคาข้าวหอมมะลิจาก 13,000-14,000 บาท เป็น 14,800-15,000 บาท, ข้าวปทุมธานีจาก 10,500-10,800 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 12,500-13,000 บาท, ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 8,900-9,000 บาท เป็น 11,000-11,800 บาท และข้าวเหนียวจากตันละ 9,900-10,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 12,500-14,800 บาท หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นตันละ 2,400-2,500 บาท

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

ล่าสุด ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา “เห็นชอบ” โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันการเกษตร 1 ล้านตัน และสินเชื่อชะลอการขาย (ยุ้งฉาง) อีก 3 ล้านตัน รวม 4 ล้านตัน

และได้มอบให้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจ้งประกาศไปยังสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ให้เริ่มดำเนินการได้ทันที กำหนดราคารับซื้อเพิ่มขึ้น 1,000 บาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้าราคาตันละ 12,000 บาท โดยคาดว่าจะมีสหกรณ์เข้าร่วม 480 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ และใช้วงเงินรวม 35,590 ล้านบาท และให้ดำเนินการเก็บข้าวเป็นเวลา 5 เดือน

และในวันที่ 10 พ.ย. 2566 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการ นบข.ด้านการผลิต เพื่อพิจารณามาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่จะให้ความช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท รายละ 20 ไร่ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท ก่อนจะสรุปและเสนอรายละเอียดต่อที่ประชุม นบข. และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

กระบวนการซับซ้อน

แหล่งข่าววงการโรงสี กล่าวว่า ครม. แถลงว่าราคาข้าวเปียกความชื้น 25% ตันละ 10,800-11,000 บาท แต่ข้าวในโครงการเราพูดกันที่ ข้าวแห้งความชื้น 15% สะท้อนว่าเขายังไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้เลย

“สินเชื่อชะลอการขายให้กับสถาบันเกษตรกร จะให้สินเชื่อ 80% ของราคาเป้าหมาย 15,000 บาท หรือ เท่ากับ 12,000 บาท แต่การที่บอกว่าข้าว ความชื้น 25% ให้ไปซื้อ 12,200 บาท ไม่ถูกต้อง เพราะหากสหกรณ์ อบลดความชื้น เป็นข้าวแห้ง น้ำหนักหายไปและคำนวณออกมา 1 ตันข้าวแห้งจะใช้ข้าวเยอขึ้น เท่ากับจะต้องไปขายตลาดตันละ 14,300 บาท เทียบกันแล้วสหกรณ์มีกำไรไหม?

และการที่รัฐกำหนดหลักเกณฑ์ ให้ไปฝากสหกรณ์ เพราะกระทรวงเกษตรควบคุมสหกรณ์ แต่สหกรณ์ 480 แห่ง มีเครื่องอบลดความชื้นหรือไม่ หรือสหกรณ์ต้องเอาไปจ้างใครทำ ถ้าไปจ้างโรงสีทำ โรงสีก็จะแทบไม่ได้ซื้อข้าวของตัวเองเลย หรือหากอบแล้วจะฝากโรงสีก็ต้องขนส่งออกมาอีกหรือจะฝากโรงสีขาย กระบวนการทำงานมีคำถามมากมาย”

และต่อไปอาจจะมีสหกรณ์ตั้งตนเป็น สยามอินดิก้า 2 คือ รวบรวมซื้อข้าวไปเก็บไว้ขายต่ออีกที คำถามคือ แล้วจะตรวจสอบการระบายอย่างไร ในเมื่อโครงการนี้ไม่เหมือนกับโครงการชะลอการฝากเก็บเข้ายุ้งฉาง ซึ่ง ธ.ก.ส. คุมเอง

“เค้าคิดว่าชดเชยดอกเบี้ยโรงสีไม่มีประโยชน์ ตัดออกแน่นอน ไม่มีก็ไม่เป็นไร โรงสี ส่งออกสามารถทำธุรกิจได้อยู่แล้ว แต่การที่ธนาคารคิดดอกเบี้ย 7% กว่า มั่นใจว่าข้าวไหลไปสู่ผู้ส่งออกโดยเร็วและราคาก็จะลดลงไปอีก”