จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน

โรงงานเหล็ก
ภาพจาก : freepik (แฟ้มภาพ)

จับตา ปมเศรษฐกิจ-การแข่งขัน ทำ “บริษัท-โรงงาน” ทยอยปิดกิจการเพิ่ม จ่อเลิกจ้างเพียบ เผยธุรกิจเหล็กเซ่นพิษยักษ์จีนบุก ขณะที่ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วน-โมลด์ โยกฐานตามบริษัทแม่ไปเวียดนาม สภาพัฒน์เผยส่งออกแย่-ภาคการผลิตลดชั่วโมงทำงาน ขณะที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแจงสถิติกว่า 1 ปี แจ้งปิดกิจการมากกว่า 100 บริษัท

ยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับการประกาศปิดกิจการ-โรงงาน และเลิกการจ้างงาน ของผู้ประกอบการในหลาย ๆ ธุรกิจ ล่าสุด บริษัท คิตากาว่า (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ โรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่เปิดดำเนินกิจการมาเกือบ 30 ปี ได้ประกาศปิดกิจการและเลิกจ้าง

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่บริษัท โรงงานผลิตเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด ได้ประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 จากที่บริษัทขาดทุนสะสมมาต่อเนื่องเกือบ 4,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับ บริษัท ทีเอ็มที โมลด์ เทคโนโลยี จำกัด ที่มีโรงงานอยู่ที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ที่ประกาศปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถหาออร์เดอร์การผลิตในแต่ละเดือนได้

ปมเศรษฐกิจ-การแข่งขัน ต้นเหตุ

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการอุตสาหกรรมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การทยอยปิดกิจการที่เกิดขึ้นดังกล่าว มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย นอกจากปัจจัยในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังมีเรื่องของการแข่งขันที่ไม่สามารถแข่งขันได้ โดยการประกาศปิดกิจการของโรงเหล็กกรุงเทพฯ มีสาเหตุมาจากไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กจากผู้ผลิตจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทย และทำให้มีต้นทุนและราคาจำหน่ายถูกกว่า ซึ่งที่ผ่านมาโรงเหล็กกรุงเทพฯได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแล้วหลายแนวทาง แต่ยังไม่สามารถลดปัญหาการขาดทุนได้ จึงนำมาสู่การปิดกิจการดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการปิดกิจการที่เป็นการย้ายฐานการผลิตตามบริษัทแม่ที่โยกฐานการผลิตไปต่างประเทศ เช่น กรณีของบริษัท ทีเอ็มที โมลด์ฯ ที่เป็นเครือข่ายซัพพลายเออร์ของซัมซุง ที่ก่อนหน้านี้ได้โยกฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าไปประเทศเวียดนาม และจากนี้ไปก็จะยังมีซัพพลายเออร์ของบริษัทใหญ่อีกจำนวนหนึ่งที่จะทยอยปิดกิจการเป็นระยะ ๆ ประกอบกับตอนนี้ เอสเอ็มอี ญี่ปุ่น ที่เคยเข้ามาลงทุนในไทยตามบริษัทใหญ่ ๆ จากญี่ปุ่น ก็มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หลายบริษัทไม่มีผู้สืบทอดกิจการก็อาจจะเลิกกิจการ

ตอนนี้ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงของรอดูแนวโน้มและทิศทางของอุตสาหกรรมว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน เช่น อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ ที่หลังจากเกิดโควิดมีปัญหาเรื่องสต๊อกสินค้าที่มีเป็นจำนวนมาก หากจากนี้ไปสถานการณ์สต๊อกยังไม่ดีขึ้นก็อาจนำไปสู่การปิดกิจการตามมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีกิจการที่ทยอยปิดกิจการ แต่อีกด้านหนึ่งปัจจุบันก็เริ่มมีภาพหรือความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาลงทุนในบางอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุถึงสถานะของธุรกิจเหล็ก ในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2566 ว่า มีการปิดกิจการ 75 ราย ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าทุนจดทะเบียน 393 ล้านบาท ลดลง 81.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ธุรกิจเหล็กที่จดตั้งใหม่มี 231 ราย ลดลง 6.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 1,480 ล้านบาท ลดลง 29.48% ส่งผลให้ปัจจุบันมีธุรกิจเหล็กที่ยังดำเนินกิจการเหลืออยู่ 4,855 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 1.33 ล้านล้านบาท

ภาคการผลิตลดชั่วโมงทำงาน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 3 ปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน ทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 0.99% แต่มีจำนวนผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับในส่วนของสาขาการผลิตเพื่อส่งออก ในหลายสาขามีแนวโน้มจ้างงานลดลง ชั่วโมงการทำงานลดลงเล็กน้อย โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.4 และ 46.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาที่ลดลง 2.0% ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานที่เพิ่มขึ้น 24.9% อัตราการว่างงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19 โดยลดลงมาอยู่ที่ 0.99% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.01 แสนคน

ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป 1) การยกระดับผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรกรรม โดยผลิตภาพแรงงานในภาคการเกษตรของไทยขยายตัวต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

2) การหดตัวของการส่งออกอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิต โดยการส่งออกที่ลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565 อาจกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญหลายรายการ อาทิ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า

และ 3) ระดับราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นก่อนการปรับอัตราค่าจ้าง ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าก่อนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ราคาสินค้ามักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งที่ต้นทุนการผลิตไม่ได้เปลี่ยนแปลง

1 ปี ปิดกว่า 100 บริษัท

นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบการในระบบของ กสร. ประมาณ 490,000 แห่ง โดยในปีงบประมาณ 2565 (1 ต.ค. 2565-ก.ย. 2566) จนถึง 27 พ.ย.ที่ผ่านมา มีสถานประกอบการที่ใช้มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อประกาศหยุดงานด้วยเหตุจําเป็นเป็นการชั่วคราว (หยุดทั้งบริษัท หรือหยุดเพียงบางแผนก) เช่น ประสบปัญหาด้านคำสั่งซื้อลดลง ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อจำนวนมากกะทันหัน รวมประมาณ 700 แห่ง กระทบลูกจ้าง 95,000 คน

โดยในจำนวน 700 แห่งนี้ ภายหลังมีการเลิกจ้างถาวร (ปิดกิจการ) 14% หรือราว 103 แห่ง โดยในจำนวนนี้มีสถานประกอบกว่า 63 แห่ง มีลูกจ้างมากกว่า 100 คน ซึ่งตัวเลขนี้จะน้อยกว่าช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก (ปี 2563-2564) หลายเท่าตัว