ส.อ.ท.เปิดทางรอดอุตสาหกรรมไทย 2567 สร้างจุดแข็ง-ฝ่ามรสุมโลก

เกรียงไกร เธียรนุกุล
สัมภาษณ์

ปี 2566 ถือเป็นปีที่เหนื่อยหนักสำหรับภาคอุตสาหกรรมพอสมควร ด้วยตัวเลขการส่งออกที่ไทย 10 เดือนยังติดลบ 2.7% และมีโอกาสที่ทั้งปี 2566 จะติดลบ 1-2% จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง

ตลอดจนการออกกฎกติกาใหม่ ๆ ที่มาทุบการค้าโลก สร้างแรงสั่นสะเทือนมาถึงภาคอุตสาหกรรม การส่งออกไปได้ยาก การขายภายในก็ไม่ง่ายเพราะมีสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาถล่ม ซ้ำต้นทุนการผลิตก็สูง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงทางรอดอุตสาหกรรมไทยปี 2567

แข่งเดือดส่งออกตลาดโลก

อุตสาหกรรมไทยปี 2566 ผ่านมา 10 เดือนตัวเลขยังมีการเติบโตอยู่ แต่ “เหนื่อยมาก” เพราะเราสู้กับทั้งตัวเองที่ต่างต้องพยายามปรับตัว และสู้กับการแข่งขันจากคู่แข่งประเทศอื่น “ฟิลิปปินส์” กำลังเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่น่ากลัว เขาฟื้นความสัมพันธ์กับทางอเมริกา จะมีการลงทุนที่มุ่งให้ฟิลิปปินส์เป็นฐานการผลิตในไม่ช้า

หากพูดถึงความท้าทายของเศรษฐกิจโลก เราเจอกับความเสี่ยงมากมายเหลือเกิน ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่เราถูกดิสรัปต์ สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าเทรดวอร์ระหว่างจีนและอเมริกา สงครามรัสเซีย-ยูเครน นี่ก็จะ 2 ปีแล้ว

ซึ่งเมื่อถึงฤดูหนาวมีแนวโน้มว่าการโจมตีจะเกิดขึ้นอีก สงครามอิสราแอล-ฮามาส ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (recession) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นำมาสู่การกำหนดกฎกติกาขึ้นมาใหม่ อย่างมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) อีก

สินค้านำเข้าทะลักทุ่มตลาด

ในอีกด้านหนึ่งในฝั่งที่เราผลิตใช้ขายในประเทศเราโดนผลกระทบหนักมาก จากการโดนสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่ง “ดัมพ์ราคาหรือทุ่มตลาด” โดย 45 กลุ่มอุตสาหกรรมใน ส.อ.ท.พบว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีอุตสาหกรรม 20 กว่าสาขาโดนดัมพ์ไปแล้ว หรือกว่า 50% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยมีทั้งมาในรูปแบบของการสำแดงเท็จ การนำเข้ามาแบบช่องทางไม่ปกติ

“ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาด และความไม่เข้มงวดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ไม่มีคุณภาพไหลเข้ามาที่ไทยจำนวนมหาศาล เช่น หมูเถื่อน เหล็ก และในหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่แทบจะโดนดัมพ์หมด อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า อะไหล่รถยนต์ ของเล่น ส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาไม่ใช่แค่จีน แต่ยังมาจากประเทศที่มีกำลังการผลิตมากกว่าไทยทั้งนั้น”

ทางรอดอุตฯไทยก่อนเลิกจ้าง

แน่นอนว่าความต้องการของภาคเอกชน คือการที่ภาครัฐต้องเร่งเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเร็วที่สุด มิฉะนั้น ปี 2567 จะยิ่งทวีความรุนแรงและลามไปกว่า 30 อุตสาหกรรมที่ต้องโดนดัมพ์อย่างแน่นอน นับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้บางโรงงานต้องปิดกิจการ เลิกจ้าง อย่างที่ทราบข่าวกันเมื่อไม่นานโรงงานเหล็กขนาดใหญ่ ทำธุรกิจมานานหลายสิบปีต้องปิดเพราะทนกับวิกฤตนี้ไม่ไหว ทำคนตกงานจำนวนมาก

เราก็ต้องสู้เดินหน้าไปพร้อมกัน ทางรอดคือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเราเอง เพิ่มการเจรจา เจาะตลาดใหม่ เดินหน้าทำสิ่งที่ทำอยู่อย่าง Foreign Industrial Club (FIC)

เป็นเวทีในการหารือระหว่างภาคอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และบริษัทต่างชาติ โครงการกองทุนอินโนเวชั่นวัน 1,000 ล้านบาท การรับรองสินค้าที่ผลิตในไทย Made in Thailand (MiT) ที่สร้างโอกาสสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การปรับตัวเองจากผู้รับจ้างผลิต (OEM) เป็นผู้ดีไซน์ (ODM) เป็นเจ้าของแบรนด์ (OBM) ระดับโลก

อุตฯ Next-GEN

แนวโน้มของอุตสาหกรรมปี 2567 เราจะเห็นการเกิดของอุตสาหกรรมใหม่ (Next-GEN Industries) เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมดิจิทัล ส่วนอุตสาหกรรม BCG จะเห็นการลงทุนเทคโนโลยีสะอาด เทคโนโลยีสีเขียว

“ผมพูดมาตลอดว่า โมเดลเอกชนนำ รัฐหนุน คือทางรอดของอุตสาหกรรมไทยและเศรษฐกิจในบ้านเรา รัฐบาลชุดนี้ทำงานกับเอกชนมากขึ้น มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน”

ลุยดึง FDI

ในระหว่างที่รอให้รัฐแก้ปัญหา ภาคเอกชนเองก็ไม่ได้นอนใจเพราะในมุมของเรา เราก็ต้องหาทางเพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง ลดต้นทุน ปรับตัวไปพร้อม ๆ กัน จึงเป็นที่มาว่า เอกชนนำ รัฐหนุน ทุกอย่างต้องไปด้วยกัน ซัพพอร์ตกัน ถึงจะพากันขับเคลื่อนไปได้ สิ่งเหล่านี้ จะดันให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามา เพราะไทยยังมีจุดแข็ง

ปั้นอุตสาหกรรมกลุ่มที่ 46

เรามีอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เริ่มมีการลงทุนจากกลุ่มพลังงานสะอาดมากขึ้น เราจึงเพิ่มอีก 1 อุตสาหกรรม ที่ 46

“2 เดือนที่แล้ว เราเปิดกลุ่มคือ กลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจปิโตรเลียม ซึ่งเดิมเราเองต้องนำเข้าพลังงานต่าง ๆ จากต่างประเทศ ทำให้เสียดุลการค้ามากมาตลอด แต่ปัจจุบันเราพบว่ามีบริษัทคนไทย 20-30 บริษัท มีความสามารถในเรื่องของการสำรวจ การเพิ่มกลุ่มอุตสาหกรรมนี้จะช่วยเรื่องของการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน เช่น พื้นที่ไทยกับกัมพูชา

เพื่อจะนำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ การต่อท่อ เดินท่อ สร้างงานได้อีกหมื่น ๆ ตำแหน่ง และที่สำคัญ บริษัทคนไทยนี่เองจะได้ออกไปแสวงหาโอกาสการลงทุนโครงการในต่างประเทศ”

ขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุนกำลังดำเนินไปนั้น ทางภาคเอกชนคาดหวังว่าโครงการจากภาครัฐจะเป็นอีกฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้จะยังห่วงกังวลเรื่องของงบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้า เลื่อนไปถึง 8 เดือน

หรือกว่าจะเริ่มใช้ได้ก็ปาไปเดือนพฤษภาคม 2567 แน่นอนว่าช่วงสุญญากาศช่วงนี้ จะเป็นที่มีโครงการที่หยุดชะงัก ถ้าโครงการลงทุนใหม่ๆไม่เกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยปีหน้าหนักแน่

ดังนั้น รัฐต้องเร่งพิจารณาเรื่องนี้ รีบคิดแก้ รีบตัดสินใจ รีบทำ เพราะต่างชาติก็จับตารอดูเราอยู่เช่นกัน