มาตรการ EV 3.5 ทำนักลงทุนตื่นเต้นตั้งฐานการผลิตไทยเตรียมเป็น Hub รถยนต์ไฟฟ้า

อีวี EV

ส.อ.ท. 11 เดือน 2566 ยอดจดทะเบียน EV พุ่ง 391% มาตรการ EV 3.5 ทำนักลงทุนคึกคักจ่อลงทุนทั้งผลิตรถ สถานีชาร์จ ดันไทยเป็นทั้งศูนย์กลางรถสันดาปและ EV ในอีกไม่ช้า ด้านยอดผลิตรถทั้งประเทศเดือน พ.ย. 2566 ร่วง 14.1% เหตุกำลังซื้อแผ่ว

วันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า มาตรการ EV 3.5 ที่ออกมา ต้องขอบคุณรัฐบาลที่เห็นชอบมาตรการนี้ และมั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมรถ EV ได้อย่างมาก เพราะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจจะเข้ามาลงทุนในไทย

ทั้งนี้ หากมาตรการ EV 3.5 มีผลแล้ว จะเห็นบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าที่เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวทยอยลงทุนก่อสร้างโรงงานในไทยตามเงื่อนไข และคาดว่าจะเห็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยสำหรับรอบนี้ประมาณช่วงปี 2568-2570 เป็นต้นไป

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

“ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นรถสันดาป และการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้าก็คงไม่ใช่เรื่องเกินจริง ไทยจะกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกรถสันดาปและรถไฟฟ้า ไทยจะเป็น Hub ของรถทั้ง 2 ประเภท”

นอกจากนี้จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถยนต์อีกด้วย เพราะว่าหลังจากนี้จะเห็นการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามแผนการลงทุนของแต่ละบริษัท ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์หรือกลุ่มที่ทำสถานีชาร์จรถไฟฟ้า เป็นต้น

อีกทั้งมาตรการนี้จะทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่ลดลงไปได้อีก เพราะรัฐสนับสนุนอยู่ไม่เกิน 100,000 บาท ก็จะทำให้ดีมานด์รถไฟฟ้าในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัจจัยหลักต่อการจับจ่ายใช้สอย และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่เชื่อว่ากลุ่มรถไฟฟ้าจะไปต่อได้ เทียบกับกลุ่มรถปิกอัพ เพราะกลุ่มซื้อรถไฟฟ้ามีกำลังซื้อมากกว่า

ทั้งนี้ ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนพฤศจิกายน 2566 มีการจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 11,290 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว 292.29% ส่งผลให้ 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) 2566 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 89,027 คัน เพิ่มขึ้น 391.29%

ส่วนสถานการณ์ของตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่ามีการผลิตทั้งสิ้น 163,337 คัน ลดลงจากปีก่อน 14.10% เพราะฐานการผลิตสูงในปีที่แล้วจากการได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น คนทำงานกลับไปทำงานที่สำนักงานมากขึ้น คอมพิวเตอร์และมือถือขายลดลง แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2566 ที่ 2.9%
การผลิตเพื่อส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 93,372 คัน เท่ากับ 57.17% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ 13.02%

ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนพฤศจิกายน 2566 ผลิตได้ 69,965 คัน เท่ากับ 42.83% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 15.51%

สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤศจิกายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 61,621 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2566 ที่ 4.51% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วถึง 9.76% เพราะยอดขายรถกระบะลดลงจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ เพราะหนี้ครัวเรือนสูง

ส่วนรถยนต์สำเร็จรูปเดือนพฤศจิกายน 2566 ส่งออกได้ 99,609 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 8.46% และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง 13.22% จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังดี จึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้