เปิดเงื่อนไขมาตรการอีวี 3.5 ซื้อเก๋ง-ปิกอัพ EV รับเงินอุดหนุนสูงสุด 100,000 บาท/คัน

รถ EV

เปิดเงื่อนไขมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ “อีวี 3.5” รัฐบาลส่งเสริมคนซื้อ “รถอีวี-กระบะอีวี” จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000-100,000 บาท/คัน ส่วนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้เงินอุดหนุน 5,000-10,000 บาท

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 จากกรณีที่นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า บอร์ดอีวีชุดใหม่ ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคตามนโยบาย 30@30

โดนบอร์ดอีวีได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2570 เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ

โดยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV 3.0 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ตามเงื่อนไข

สำหรับมาตรการ EV 3.5 รัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้

1.รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 50,000-100,000 บาท/คัน สำหรับขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 20,000-50,000 บาท/คัน และได้สิทธิประโยชน์ลดภาษีนำเข้ารถผลิตจากต่างประเทศ (CBU) ไม่เกิน 40% ในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2567-2568)

2.รถยนต์ไฟฟ้าราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ได้รับสิทธิประโยชน์ ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%

3.รถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 50,000-100,000 บาท/คัน ไม่มีสิทธิประโยชน์ภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิต

4.รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 5,000-10,000 บาท/คัน

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกันเพื่อกำหนดอัตราเงินอุดหนุนที่เหมาะสม และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศ โดยผู้ได้รับการสนับสนุนตามมาตรการต้องตั้งฐานผลิตในประเทศเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) โดยจะปรับเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ภายในปี 2570

พร้อมทั้งกำหนดให้แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปที่นำเข้าและผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานตามมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) อีกทั้งยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตต้องรองรับการใช้ Quick Charge ได้

สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก หรือ EV 3.0 ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนแล้ว รวมทั้งสิ้น 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท ทั้งในประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สร้างผลสำเร็จในการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย