ทุเรียนปี’67 ส่อล้น ชาวสวนแห่ปลูกแทนยางทะลุ 1 ล้านไร่

สัญชัย ปุรณะชัยคีรี ทุเรียน

การส่งออกทุเรียน ปี 2567 กำลังจะเริ่มขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินเบื้องต้นว่าผลผลิตทุเรียน 2566/67 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น 15.3% เป็นผลจากการเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนแทนยางพาราและผลไม้อื่น ๆ จนกระทั่งขณะนี้มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 8.18% หรือทะลุ 1 ล้านไร่ไปแล้ว

ขณะที่ด้านการส่งออกก็มีการแข่งขันรุนแรงขึ้นมาก โดยเฉพาะกับทุเรียนเวียดนาม “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายสัญชัย ปุระณะชัยคีรี” นายกสมาคมการค้าและการส่งออกผลไม้ไทยถึงแนวโน้มการส่งออกทุเรียนปี 2567

ผลผลิตทุเรียนทะลัก

ย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา ชาวสวนขยายพื้นที่การปลูกทุเรียนมากขึ้นทุกปี ซึ่งการเพาะปลูกทุเรียนชุดใหม่นั้นเริ่มให้ผลผลิตออกตั้งแต่ปี 2566 และคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มในปี 2567 โดยชุดแรกจะออกในช่วงเดือนเมษายน 2567 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก คาดว่าจะมีปริมาณรวมทั้งหมด 1.4 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 30,000 ตัน

“3-4 เดือนข้างหน้าผลผลิตจะออกชุดใหญ่ ตอนนี้คาดการณ์ตัวเลขชัด ๆ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะช่วงนี้ทุเรียนพึ่งออกดอก ยังต้องดูเรื่องของสภาพภูมิอากาศ ภัยแล้ง ภัยธรรมชาติ ต้นทุเรียนพึ่งจับดอกด้วย ติดลูกไหม ร่วงหรือไม่ แต่ประเมินจากพื้นที่ คาดว่าผลผลิตทุเรียนออกต่อวันสูงสุดประมาณ 2,500 ตัน”

เวียดนามพัฒนาพันธุ์ทุเรียน

ตลาดส่งออกอยู่ที่จีน 90% ตอนนี้เป็นช่วงโลว์ซีซั่นแต่จะดุเดือดอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

เทียบกับเวียดนามที่ส่งออกเติบโต จากที่มีการพัฒนาพันธุ์ทุเรียนส่งออก 2-3 พันธุ์ เช่น หมอนทอง พันธุ์ซีเสา (Ri6 ออกเสียงว่าซีเสา) หรือก้านยาว ซึ่งเป็นคนละชนิดกับก้านยาวของไทย และคาดว่าปี 2567 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกปี 2566 ไทยส่งออกทุเรียนประมาณ 20,000 ตันต่อวัน เวียดนามเฉลี่ยที่ 2,500-3,000 ตันต่อวัน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงและมีโอกาสที่จะส่งออกเพิ่มทุกปี

ทั้งนี้ ล่าสุดข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีนระบุว่า จีนนำเข้าทุเรียนสดตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2566 ปริมาณ 904,178 ตัน มูลค่า 4,422 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทั้งปี 2565 จีนนำเข้าทุเรียนสดปริมาณ 783,976 ตัน มูลค่า 3,847 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทั้งปี 2567 จีนน่าจะนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากทั้งจากไทยและเวียดนาม

ขอใบถิ่นกำเนิดสินค้าไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม สมาคมพบว่าปัญหาการปลอมใบอนุญาตหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O) ของผู้ส่งออกเพื่อนำไปใช้ขอสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีที่ทางจีนพบ 500 ใบ เป็นเรื่องที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแลแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น ไม่ใช่เป็นเพียงเปิดข้อมูลว่ามีการปลอมเอกสาร

แต่ต้องการให้มีการตรวจสอบว่าบริษัทไหนเป็นผู้กระทำ เป็นผู้ส่งออก หรือชิปปิ้ง (shipping) ที่เป็นบริษัทตัวแทนเจ้าของสินค้า (Cargo) ที่ติดต่องานด้านเอกสารสำหรับการนำเข้า-ส่งออกด้วย ซึ่งสัดส่วนถึง 80% ที่ดำเนินการแทนผู้ส่งออก ซึ่งจีนอาจจะมีมาตรการเข้มขึ้นในอนาคต

“จากที่ดูแล้วความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นในการปลอมเอกสารเพื่อส่งออกสินค้า ไม่ให้สินค้านั้นตกค้าง อาจจะเป็นเพราะช่วงปัญหาวันหยุดยาว วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไม่สามารถรอได้ ทำให้มีการทำเอกสารปลอมขึ้นมา เพื่อส่งออกสินค้านั้น ๆ ออกไปได้เร็วขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องสวมสิทธิแทบจะไม่มี เพราะคู่แข่งสามารถส่งออกได้เองแล้ว”

ตั้งกองทุนทุเรียน

สำหรับแนวทางในการยกระดับทุเรียนในอนาคตนั้น คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาจัดทำพระราชบัญญัติกองทุนทุเรียนไทย พ.ศ. … ขึ้นมา เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 เพื่อแก้ปัญหาทุเรียนแบบครบวงจร โดยเฉพาะเรื่องการจัดให้มีกองทุนทุเรียนไทย เพื่อนำเงินกองทุนมาสงเคราะห์ช่วยเหลือชาวสวนทุเรียน เพื่อจัดสวัสดิการและศึกษา วิจัย พัฒนา การจัดระเบียบพื้นที่ปลูกทุเรียน จัดหาแหล่งน้ำ และปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เป็นต้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้

เบื้องต้นมีการระบุว่าจะเก็บเงินเข้ากองทุน โดยหักจากรายได้จากการส่งออกทุเรียนปีละ 1,500,000 ตัน หรือ 1,500 ล้านกิโลกรัม แค่กิโลกรัมละ 25 สตางค์ ซึ่งจะทำให้มีเงินสมทบเข้ากองทุนทุเรียนไทยปีละประมาณ 375 ล้านบาท

“เรื่องการตั้งกองทุนทุเรียน อยากแสดงความคิดเห็นคือ ที่มาของการเก็บเงินเข้ากองทุน ต้องเป็นผู้ส่งออกเพียงฝ่ายเดียวหรือไม่ เพราะชาวสวนก็มีรายได้จากการปลูกทุเรียน ซึ่งบางครั้งก็มากกว่าผู้ส่งออก และหากดูเป้าหมายการดูแลหรือการใช้เงินกองทุน เป้าหมายเพื่อความยั่งยืนการปลูกทุเรียน แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน ทั้งการบริหาร ใครดูแล ปัญหาคอร์รัปชั่น ในความเห็นส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้”

เลิกออกมาตรฐาน “ซ้ำซ้อน”

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนมาบังคับใช้เป็นการเฉพาะ แต่อาศัยอำนาจระดับจังหวัดในการติดตามดูแลเรื่องทุเรียนอ่อน แต่พอจะดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อตรวจสอบ ลงโทษ เรื่องทุเรียนอ่อน ทุเรียนด้อยคุณภาพ กลับไม่มีเรื่องเหล่านี้

แต่กลับเป็นการเข้าตรวจสอบมาตรฐานล้งแทน ซึ่งสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จะบังคับใช้หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อต้นปี 2566 ซึ่งจะมีเนื้อหาที่กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบ และรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร

“สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร เริ่มจากเรื่องของมาตรฐาน โดยกำหนดระเบียบขึ้นมา เมื่อผ่านขั้นตอนเห็นชอบและมีการประกาศใช้ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการกำหนดมาตรฐาน มีการเข้าไปตรวจ ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ซึ่งเรามองว่าแค่มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) เพียงใบเดียว ก็ครอบคลุมทุกอย่าง มีการตรวจทุกปี ก็มีค่าใช้จ่ายในการตรวจ เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ จากนั้นก็ส่งต่อให้หน่วยงานรัฐในการรับรอง แต่ในภาพรวมก็ถือว่าได้ประโยชน์ แต่ก็ยังมีความซ้ำซ้อนอยู่บ้าง ทั่วไปแล้ว GMP นี้ตรวจหนึ่งครั้งใช้ได้ 3 ปี แต่สิ่งที่เกิดคือตรวจทุกปี ซึ่งเห็นว่าไม่ถูกต้อง”

สำหรับ มาตรฐาน GMP ส่วนใหญ่ใช้ในการส่งออก ซึ่งข้อสังเกตที่พบคือ ผู้นำเข้าต่างประเทศก็ไม่ได้ต้องการมาตรฐานที่เรากำหนด เพราะเขามีมาตรฐานนำเข้าของเขาอยู่แล้ว และหากจะส่งออกสินค้าไปก็ต้องให้ได้ตามมาตรฐานที่เขากำหนด และสิ่งที่เราทำมานั้น อาจเป็นการกีดกันการส่งออกก็ได้ เช่น จีนก็มีมาตรฐาน DOA ตัวเดียว เพียงแค่มีหลักฐาน ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี

ดังนั้น จึงต้องการให้ลดความซ้ำซ้อนในเรื่องของมาตรฐาน โดยต้องระบุที่ชัดเจนไม่ใช่การเขียนขึ้นมาใหม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานใดที่ออกมาก็ล้วนเป็นต้นทุนให้กับผู้ประกอบการทั้งสิ้น