ทุเรียนไทยเจอศึกรอบทิศ “เวียดนาม-มาเลย์” แข่งส่งออกจีน

ทุเรียน
แฟ้มภาพ

ทุเรียนเวียดนามแรงจัด ยอดส่งออกจีนโตก้าวกระโดด แย่งตลาดทุเรียนไทย เผย 10 เดือนแรกปีนี้ทะลุ 5.4 หมื่นล้านบาท ล้ง “จีน-ไทย” แห่โยกฐานลงทุนเวียดนาม เพิ่ม 300-500 ราย เผยจุดแข็งต้นทุนต่ำ พื้นที่ใกล้จีนค่าขนส่งถูกกว่าไทยมาก แถมล่าสุดเวียดนามเตรียมยื่นขอส่งออก “ทุเรียนแช่แข็ง” เจาะตลาดจีนเพิ่ม จับตาหลายประเทศเจรจาขอส่งทุเรียนสดเข้าจีน ขณะที่มาเลเซียเตรียมส่ง “ทุเรียนมูซังคิง” บุกตลาดจีนพฤษภาคม 2567

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการเปิดเผยข้อมูลของศุลกากรจีนระบุว่า ปี 2565 จีนนำเข้าทุเรียนมากเป็นอันดับ 1 ปริมาณรวม 825,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.43 แสนล้านบาท ที่น่าสนใจคือ ผลไม้และทุเรียนเวียดนามที่ได้รับความนิยมจากชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 10 เดือนแรกของปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนเวียดนามรวมอยู่ที่ 1.11 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 5.43 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3,084%

ล้งจีน-ไทย โยกบุกเวียดนาม

นายณัฐกฤษฎ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีนและเจ้าของโรงงานคัดและบรรจุทุเรียน จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ทุเรียนในเวียดนาม ที่เป็นคู่แข่งกับทุเรียนไทย ล่าสุดมีนายทุนจีน เวียดนาม รวมถึงนายทุนคนไทย ที่มีโรงคัดบรรจุในภาคตะวันออก ได้ขยายสาขาเข้าไปร่วมลงทุนกับเวียดนามเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันเกษตรกรเวียดนามในจังหวัดดั๊กลักที่อยู่ตอนกลางของประเทศก็ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนขึ้น และเป็นพื้นที่ที่ปลูกทุเรียนมากที่สุด และมีล้งรับซื้อมากกว่า 300 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่เพียง 100 กว่าแห่ง

“ตอนนี้ทุเรียนผลสดของเวียดนามถือเป็นคู่แข่งสำคัญของทุเรียนไทยในตลาดจีน และในอนาคตทุเรียนแช่แข็งของเวียดนาม ก็จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยด้วย เนื่องจากเวียดนามกำลังขออนุญาตนำเข้าทุเรียนแช่แข็งโดยตรงกับจีน คาดว่าจะได้รับอนุญาตในเร็ว ๆ นี้ ต่อไปเวียดนามอาจจะเป็นแชมป์ทุเรียนแช่แข็ง เพราะมีความพร้อมด้านการผลิต มีโรงงานแช่แข็งจำนวนมาก ที่สำคัญวัตถุดิบทุเรียนมีราคาต่ำกว่าไทย กก.ละ 20-30 บาท นอกจากนี้ยังมีผู้ส่งออกทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ 1 ใน 5 ของไทย ขยายไปทำทุเรียนแช่แข็งในเวียดนาม”

นายณัฐกฤษฎ์กล่าวด้วยว่า ทุเรียนจากเวียดนาม มีข้อได้เปรียบในแง่ของต้นทุนและราคาที่ถูกกว่าทุเรียนไทย และได้รับการสนับสนุนของรัฐบาลอย่างเต็มที่ ขณะที่การขนส่งใช้เวลาเพียง 2-3 วัน เพราะอยู่ใกล้จีน ทั้งนี้ ผลผลิตทุเรียนเวียดนามจะออกต่อจากทุเรียนภาคตะวันออกของไทย ทำให้ในจีนมีทุเรียนขายต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดทุเรียนภาคตะวันออกของไทยในต้นฤดูกาลหน้า ที่ผลผลิตจะเริ่มออกประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 ขณะนี้นายทุนชาวจีนได้เข้ามาสร้างล้งในภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ และคาดว่าในปี 2567 จะมีล้งจีนเพิ่มเป็น 1,000-1,200 ล้ง จากปี 2566 ที่มีประมาณ 800 ล้ง และตอนนี้ ล้งบางรายเริ่มเข้ามาออร์เดอร์ทุเรียนกับโรงคัดบรรจุบ้างแล้ว

ปี 2566 นี้ คาดว่าปริมาณรับซื้อทุเรียนส่งออกตลอดทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 ตู้ หรือ 1 ล้านตัน แม้ว่าผลผลิตทุเรียนของไทยจะไม่ดีนัก แต่พื้นที่ปลูกและอายุปีของทุเรียนที่ให้ผลมีปริมาณมากขึ้น การแข่งขันราคาอาจจะสูงถึง กก.ละ 300-320 บาท และส่งผลให้ราคาทุเรียนภาคใต้มีราคาสูงตามไปด้วย

ต้นทุนต่ำ จุดแข็งเวียดนาม

นายสิระวิชญ จิระวัฒนเมธากุล ผู้ประกอบการธุรกิจโรงคัดบรรจุแห่งหนึ่งในเมืองดั๊กลัก ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ที่ผ่านมาล้งจีนในภาคตะวันออกของไทยหลายรายได้ขยายสาขาไปที่เวียดนาม ซึ่งทุเรียนจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน และเป็นช่วงที่ทุเรียนภาคตะวันออกของไทยหมดฤดูพอดี โดยล้งในเวียดนามส่วนใหญ่เป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างคนจีนกับคนเวียดนาม ล้งเวียดนามร่วมทุนกับคนไทย ปัจจุบันเมืองดั๊กลัก มีล้งประมาณ 500 แห่ง

ที่น่าสนใจก็คือ เวียดนาม มีต้นทุนแรงงาน ค่าเช่าล้ง ค่าครองชีพ การขนส่ง ถูกกว่าไทยมาก ส่วนราคาทุเรียนแม้ไม่ถูกกว่ากันมากนัก เนื่องจากมีการแข่งขันกันสูง แต่เวียดนามเน้นพัฒนาคุณภาพทุเรียน ตัดตอนแก่ และมีทุเรียนให้คัดคุณภาพได้จำนวนมาก และแนวโน้มตลาดทุเรียนในเวียดนามน่าจะเติบโตได้ดี

ขณะที่นายวุฒิชัย คุณเจตน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า ในอนาคตเวียดนามจะสามารถส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปตลาดจีนได้ และจะได้เปรียบทุเรียนแช่แข็งของไทย เพราะได้เปรียบในแง่ของต้นทุนต่ำกว่า และการขนส่งที่ใกล้กว่า และการทำตลาดของไทยจะยากขึ้น หากไม่มีการเตรียมการรองรับที่ดีพอ

ด้านนางสาวลิลพัชร์ ทองโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะลิส อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ขยายสาขาไปโรงคัดบรรจุในเวียดนาม เพื่อส่งออกไปจีน แสดงความเห็นว่า ในปี 2567 ตลาดทุเรียนในเวียดนามน่าจะคึกคักน้อยลง เนื่องจากปี 2566 เป็นปีที่ตลาดทุเรียนเวียดนามเติบโตมาก

ประกอบกับผู้ประกอบการบางรายประสบภาวะขาดทุน เนื่องจากการแข่งขันแย่งซื้อทุเรียนของล้งจำนวนมาก จนมีปัญหาการเงิน ไม่กล้าลงทุนต่อ รวมทั้งกฎระเบียบของเวียดนามเข้มข้นขึ้น ไม่เอื้อต่อการลงทุน ทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุน และจะเหลือเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งแนวทางของบริษัทก็จะเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้เป็นหลัก ไม่เน้นการขยายเพิ่ม

อย่างไรก็ดี โอกาสของตลาดทุเรียนไทยจึงมีสูง ทั้งทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็ง แต่ที่สำคัญก็คือ ต้องเน้นการรักษาคุณภาพทุเรียนให้ดี ทุเรียนเวียดนามไม่ได้เหนือกว่าไทย ราคาทุเรียนเวียดนามไม่ได้ต่ำกว่าไทย โดยเฉพาะราคาช่วงปิดตู้แพงกว่าทุเรียนไทย ทำกำไรยาก และระยะหลัง ๆ เริ่มมีปัญหาคุณภาพมากขึ้น โอกาสทางการตลาดทุเรียนไทยในจีนมีสูง จากชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับมากกว่า

เวียดนามขยายพื้นที่ปลูก 3 เท่า

รายงานข่าวจากฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ เปิดเผยว่า ขณะนี้เวียดนามเตรียมส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปจีน พร้อมขยายกำลังการผลิตต่อเนื่อง ซึ่งจีนนำเข้าทุเรียนในสัดส่วนประมาณ 82% ของการบริโภคทุเรียนทั่วโลก และความต้องการทุเรียนที่มากขึ้นของตลาดจีน กระตุ้นให้พื้นที่ปลูกทุเรียนในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันเวียดนามมีพื้นที่ปลูกประมาณ 689,375 ไร่ จากปี 2560 ที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 231,250 ไร่ และปริมาณผลผลิตมากกว่า 863,000 ตัน ปัจจุบันเวียดนามส่งออกทุเรียนสดไปยัง 24 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก และส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปยัง 23 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ปริมาณการส่งออกทุเรียนเวียดนามสูงเกิน 300,000 ตัน

มาเลย์คู่แข่งใหม่บุกจีนปี’67

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา ทางการจีนได้อนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากเวียดนามลอตแรกเมื่อเดือนกันยายน 2565 ขณะที่ทุเรียนฟิลิปปินส์เริ่มเข้าสู่ตลาดจีนเมื่อเดือนเมษายน 2566

โดยในปี 2566 จีนมีการนำเข้าทุเรียนจาก 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวม 1,360,192 ตัน แบ่งเป็นทุเรียนไทย 904,178 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 69.29% ทุเรียนเวียดนาม 452,688 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 30.52% และทุเรียนฟิลิปปินส์ 3,326 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 0.19% และขณะนี้หลาย ๆ ประเทศพยายามเร่งเจรจาเปิดตลาดทุเรียนสดส่งออกไปประเทศจีน เช่น มาเลเซีย ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย รวมทั้งจีนก็มีการปลูกทุเรียนในมณฑลไห่หนาน

รายงานข่าวจากฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว รายงานว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและความมั่นคงอาหารของมาเลเซีย ให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการของมาเลเซียจะส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างมาเลเซียและจีน ครบ 50 ปี โดยทุเรียนมูซังคิงถือเป็นทุเรียนสายพันธุ์หลักของมาเลเซีย