แผ่นดินไหวญี่ปุ่นไม่กระทบส่งออก ปี 2567 ทูตพาณิชย์เกาะติดสถานการณ์

ส่งออก
Photo : pexels-kelly

ทูตพาณิชย์ประจำญี่ปุ่น เผยจากสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น จากการติดตามยังไม่กระทบต่อการส่งออกและกิจกรรมการส่งเสริมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ชี้ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

วันที่ 2 มกราคม 2567 นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ทางสำนักงานได้ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ถึงผลกระทบต่อการส่งออกและกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ จากที่มีการพูดคุยกับผู้นําเข้า คาดว่าขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกและกิจกรรมใด ๆ ของกรม โดยยังสามารถดำเนินแผนได้เป็นปกติ อย่างไรก็ดี สำนักงานพร้อมที่จะติดตามสถานการณ์และให้คำแนะนำกับผู้นำเข้าและส่งออกของไทยต่อไป

สำหรับการติดตามแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 16.10 น. กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ประกาศเตือนภัยคลื่นสึนามิจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.6 แมกนิจูด โดยมีศูนย์กลางในพื้นที่เขตโนโต จังหวัดอิชิคาวะ ทางตอนกลางของญี่ปุ่น โดยมีประกาศเตือนภัยว่าอาจเกิดคลื่นสึนามิความสูง 3-5 เมตร ที่จังหวัดอิชิกาวะ จังหวัดโทยามะ จังหวัดนีกาตะ จังหวัดฟูกูอิ จังหวัดเฮียวโกะ และจังหวัดยามากาตะ

และประกาศเฝ้าระวังการเกิดคลื่นสึนามิที่จังหวัดฮอกไกโด จังหวัดอาโอโมริ จังหวัดอะกิตะ จังหวัดเกียวโต จังหวัดทตโตริ จังหวัดชิมาเนะ จังหวัดยามากูจิ จังหวัดฟูกูโอกะ จังหวัดซากะ และจังหวัดนางาซากิ รวมถึงให้ระวังภัยคลื่นสึนามิและแผ่นดินไหวในจังหวัดใกล้เคียง

ต่อมาเมื่อเวลา 01.15 น. ของวันที่ 2 มกราคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ลดระดับประกาศเตือนภัยคลื่นสึนามิ เป็นขอให้เฝ้าระวังการเกิดคลื่นสึนามิแทน ทั้งนี้ ใน 2-3 วันข้างหน้าอาจมีแผ่นดินไหวที่จะยังคงมีตามมาเป็นระยะ (aftershocks)

โดยทางการญี่ปุ่นได้ขอความร่วมมือประชาชนดังนี้

  1. ส่วนที่อพยพพำนักอยู่ที่ศูนย์อพยพให้อยู่จนกว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะคลี่คลาย
  2. ขออย่าเข้าใกล้ชายฝั่งหรือปากแม่น้ำ จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์เตือนภัย
  3. ขอให้ชาวประมงใช้ความระมัดระวังในการออกเรือ

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ไม่มีอะไรรุนแรงมากกว่านี้ ก็คาดว่าไม่น่าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยแต่อย่างใด ขณะที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 3 แห่งในประเทศญี่ปุ่น ตั้งเป้าผลักดันการส่งออกในปี 2567 จะขยายตัวที่ 1% โดยได้ตั้งเป้านำเสนอสินค้าศักยภาพจากประเทศไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ เพื่อให้การส่งออกมีการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้