รับมือ “เอลนีโญ” เร่งสร้างความมั่นคงอาหาร

เอลนีโญ

ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เป็นสิ่งที่ทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยิ่งเกิดสถานการณ์ “เอลนิโญ” ปีก่อนยิ่งสร้างความเสียหายต่อผู้ผลิตอาหารหลาย ๆ ประเทศ

ความมั่นคงโลกสั่นคลอน

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ จากข้อมูลการประเมินระดับความมั่นคงทางอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งได้เผยแพร่รายงาน “Global Report on Food Crises” ระบุว่า ปี 2565 มีประชากร 193 ล้านคน ใน 53 ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้น

จากราคาอาหารที่แพงขึ้น นำมาสู่ความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารโลกที่ระบุว่า ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทุก 1% ทำให้ประชากร 10 ล้านคนยากจนขั้นรุนแรง

ผอ. FAO เยือนไทย

ล่าสุด นายฉู ตงหยู (Qu Dongyu) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่ 8-10 มกราคม 2567 เพื่อติดตามการดำเนินงานของสำนักงาน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และการดำเนินงานด้านการเกษตรและอาหารของประเทศไทย สะท้อนภาพความสำคัญของไทยในฐานะประเทศที่มีความแข็งแกร่งในการผลิตอาหารช่วยเลี้ยงดูโลกที่หิวโหย

ไทยมีความสัมพันธ์อันยาวนานในฐานะประเทศสมาชิกของ FAO ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้ ผอ. FAO มีกำหนดจะเข้าเยี่ยมคารวะ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังมุ่งไปเยี่ยมชมบางกะเจ้า ซึ่งเป็นต้นแบบ “ปอดสีเขียว” ของกรุงเทพฯ รวมถึง “ตลาดไท” ซึ่งเป็นธุรกิจค้าส่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีกทั้งจะเยี่ยมชมศูนย์ติดตามตรวจสอบของกรมประมง ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีติดตามเรือ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมของไทยในการสนับสนุนข้อตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่าเรือ เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

กราฟฟิก ทางรอด

นอกจากนี้ คณะผู้แทน FAO ยังได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ดิน เพื่อดูความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิน ความมุ่งมั่นของไทยในการช่วยเหลือและร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในการพัฒนาการจัดการดินที่ยั่งยืน นำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ Excellence for Soil Research in Asia (CESRA) ภายใต้ Asian Soil Partnership ในปี 2019 ที่ผ่านมา

ทิศทางอาหารในปีนี้

สำหรับภาพความมั่นคงด้านอาหารของไทยปีล่าสุด 2565 สะท้อนจากดัชนีความมั่นคงทางอาหาร (Global Food Security Index) ระบุว่า ไทยมีความมั่นคงทางอาหารเป็นอันดับที่ 64 ของโลก มีระดับคะแนน 60.1 คะแนน ลดลงจากปี 2564 ที่อยู่ในอันดับ 51 โดยพิจารณาจากองค์ประกอบหลัก 4 ด้านคือ ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร ความพร้อมอาหารมีเพียงพอ คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และความยั่งยืน และการปรับตัว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมอาหารนับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ในส่วนของประเทศไทยยังเดินหน้าผลิตและส่งออกอาหารในฐานะครัวของโลก ท่ามกลางภาวะภัยธรรมชาติ วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกเปราะบาง กำลังซื้อหด

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

โดยไทยในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2566 ไทยสามารถรักษาระดับการส่งออกอาหารให้เติบโต 2.9% สร้างรายได้มาขับเคลื่อนประเทศมีมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอาหารในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2.47% จากเดิมที่มีส่วนแบ่ง 2.5%

ขณะที่คู่แข่ง อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซียมีส่วนแบ่งตลาดลดลงจากการใช้มาตรการ “จำกัดการส่งออก” สินค้าเกษตรเพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหาร

โดยหากเจาะลึกลงไปในหมวดการส่งออก 1.4 ล้านล้านบาท จะพบว่าสินค้าเกษตรและอาหาร 7.3 แสนล้านบาท เติบโตถึง 9% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีมูลค่า 7.1 แสนล้านบาท หดตัว 2.5%

ซึ่งภาพที่ผ่านมาหลายฝ่ายกังวลถึงสถานการณ์การเกิดเอลนีโญ ว่าจะกระทบต่อภาคการผลิต เพราะจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ระดับ 308.06 ลดลง 2.63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีระดับ 316.37 จากสินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดให้ผลผลิตลดลง เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรด และปาล์มน้ำมัน

“ส่วนโอกาสเกิดเอลนีโญปีนี้ หากติดตามประเมินสถานการณ์เอลนีโญล่าสุด จากข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ (WMO) ระบุว่า เป็นไปได้ 90% ที่ปรากฏการณ์เอลนีโญจะดำเนินต่อไป มีโอกาสจะลากยาวถึงเดือนเมษายน 2567 เป็นอย่างน้อย และมีความเสี่ยงที่อุณหภูมิโลกมีโอกาสจะร้อนมากกว่าปี 2566 ไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนมีโอกาสจะเผชิญความแห้งแล้งต่อไปจนถึงปี 2571”

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ที่ประเมินแนวโน้มว่าผลผลิตหลายอย่างมีโอกาสจะลดลง เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันน้ำในอ่างจะยังมีปริมาณเพียงพอ แต่ผลกระทบจะเห็นชัดช่วงกลางปี 2567

ผลเอลนีโญกระทบลูกโซ่

ผลจากเอลนีโญจะไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อรายได้ภาคเกษตรที่มีมูลค่า 1.53 ล้านล้านบาทต่อปีเท่านั้น แต่ยังจะกระทบด้านแรงงานในภาคเกษตรอีก 13 ล้านคน

และที่สำคัญอาจจะกระทบลามไปถึงอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนภาคเกษตร ทั้งอุตสาหกรรมปุ๋ย อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเครื่องดื่มที่ใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตร ต่อเนื่องไปถึงภาคการส่งออก ไม่เว้นแม้แต่ภาคการท่องเที่ยว ดังนั้น ไทยจะต้องเตรียมแนวทางรับมือ

ESG รับมือเอลนีโญ

นายวิศิษฐ์มองว่า แนวทางการรับมือเอลนีโญนั้น จะต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้หลัก ESG ในเรื่องการดูแลสภาพแวดล้อมระยะยาว การทำการเกษตรอินทรีย์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยจัดการภัยพิบัติ

ไม่เพียงเท่านั้นไทยต้องเตรียมรับความท้าทายอื่นนอกจากเรื่องภัยธรรมชาติ โดยจะต้องมุ่งเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจ สร้างความยืดหยุ่น เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ มุ่งติดตามเทรนด์การตลาด ตลอดจนขยายตลาดใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง พร้อมทั้งเสริมสร้างทักษะบุคลากรให้เรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI เพื่อสร้างการเติบโตและสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจในอนาคต