“โซลาร์บนหลังคา” ลดค่าไฟ ใช้สูตรหักกลบลบหน่วยคุ้มหรือไม่

โซลาร์รูฟ

เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะระบบหลังคาโซลาร์ หรือโซลาร์รูฟ ที่แปลงพื้นที่หลังคามาเป็นโรงงานไฟฟ้าย่อม ๆ ในบ้านเรือน เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ช่วยลดปัญหาค่าไฟแพง และที่เหลือยังมีโอกาสที่จะใช้ขายสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนได้

แต่ประเด็นนี้นำมาสู่คำถามว่า การคำนวณค่าไฟส่วนต่างจะใช้ระบบอะไร ซึ่งหากดูต้นแบบในหลาย ๆ ประเทศ รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สวีเดน หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ ที่ใช้ระบบ “โซลาร์รูฟ” ได้เริ่มใช้ระบบที่เรียกว่า “Net Metering” หรือระบบหักกลบลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง โดยนำไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์มาหักลบกับไฟที่ได้จากส่วนกลางแล้วคำนวณค่าไฟออก

แต่ระบบ Net Metering ยังไม่สามารถแจ้งเกิดขึ้นในประเทศไทยเสียที ด้วยเหตุนี้ ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับ Data Hatch จัดงานสัมมนา Solar SoJai : ทางเลือกพลังงานที่ใช่ ในสภาวะค่าไฟแพง เพื่อชี้ทางออกสำหรับวิกฤตโลกเดือด พร้อมทางรอดของประชาชนฝ่าวิกฤตค่าไฟแพง

โซลาร์ประชาชนไม่เกิด

โซลาร์เซลล์เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ใคร ๆ ก็มีสิทธิใช้ได้อย่างไม่จำกัด ทว่ากลับถูกจำกัดการเติบโตด้วย “นโยบายของภาครัฐ”

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า นโยบายการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนของรัฐยังไม่ชัดเจน ทั้งยังมีการซื้อขายไฟฟ้าจากฟอสซิล รวมถึงยังมีการเซ็นสัญญาสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลต้องแสดงความจริงจังในเชิงนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน เพราะการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เดือดไปมากกว่านี้ เป็นหน้าที่ของทุกคน

“ประชาชนควรจะเข้าถึงแดดโดยการทำโซลาร์รูฟ เพื่อลดค่าครองชีพ แต่ราคาโซลาร์รูฟยังคงแพง และไม่มีมาตรการสนับสนุนทางการเงินให้กับประชาชนแตกต่างจากภาคอุตสาหกรรมที่มีหน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มาสนับสนุนเงินทุนในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ อีกทั้งกระบวนการติดตั้งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เพิ่มภาระทางการเงินให้ประชาชน จนสุดท้ายประชาชนก็เลือกไม่ติดโซลาร์เซลล์”

นางสาวบุญยืนชี้ว่า นโยบายสำคัญอย่างการอนุญาตให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าโซลาร์ขายคืนกลับให้ กฟผ. ผ่านระบบ Net Metering ยังไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐกลับให้ความสนใจเฉพาะโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งเป็นของกลุ่มทุนพลังงานเท่านั้น สะท้อนจากราคาไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 3-4 บาท/หน่วย ขณะที่ราคาไฟฟ้าที่รับซื้อจากประชาชนต่ำกว่าเพียง 2.20 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่มีความยุติธรรม

ค่าไฟที่เป็นธรรม

“ในฐานะผู้บริโภค เราไม่ได้อยากได้ค่าไฟถูก แต่เราอยากได้ค่าไฟที่เป็นธรรม แต่ว่าปัจจุบันนี้ค่าไฟแพงมาจากการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดที่วางนโยบายให้เอกชนมาร่วมผลิต จนมีกำลังไฟฟ้าล้นเกินความจำเป็น 60-70% สูงกว่าปกติที่ 15% แต่ก็ยังมีการซื้อไฟเข้ามาเพิ่มอีกเรื่อย ๆ โดยอ้างถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) จนไฟฟ้าล้นระบบ กลายเป็นว่าประชาชนผู้ซื้อไฟจะต้องมาแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการสำรองไฟในรูปของค่าเอฟทีแทน แต่รัฐไม่มีการดูแลแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างราคาพลังงาน”

สาเหตุสำคัญของปัญหาไฟแพงมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) แผน PDP ล้มเหลว ไม่ลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ รวมถึงยังคงใช้พลังงานฟอสซิล 2) ไม่ให้ภาคประชาชนและภาคสาธารณะสังคมเข้ามามีส่วนร่วม 3) การทำสัญญาลงนามกันระยะยาวขั้นต่ำ 20 ปี ไม่ว่าจะผลิตหรือไม่ผลิตเราต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย ซึ่งเป็นภาระประชาชน

ปฏิวัติพลังงานบนหลังคา

ด้าน นายวีรภัทร ฤทธาภิรมย์ นักรณรงค์ด้านพลังงานหมุนเวียน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า กรีนพีซร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค ดำเนินนโยบายปฏิวัติพลังงานบนหลังคา ที่เสนอการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมผ่านโซลูชั่นการใช้โซลาร์เซลล์ มีเป้าหมายช่วยประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 1 ล้านหลังคาเรือน ให้ติดตั้งโซลาร์รูฟหลังละประมาณ 1.5 กิโลวัตต์ ซึ่งมีโรดแมปเริ่มที่บ้านพักอาศัยก่อนจะขยายไปที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัย จากนั้นก็เป็นโรงพยาบาล

ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้ยื่นเอกสารต่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งตอบโจทย์วิกฤตสภาพภูมิอากาศของไทยที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 ทั้งยังเปิดโอกาสให้ช่างในอุตสาหกรรมเดิมสามารถเรียนรู้และเปลี่ยนสายมาทำโซลาร์ได้

“จากการลงพื้นที่พบว่าประชาชนตื่นตัวและอยากติดโซลาร์เซลล์มาก เพราะบางแหล่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง แต่ปัจจัยที่ประชาชนยังไม่ติดตั้งโซลาร์มาจากข้อกำหนดที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาก และการเข้าถึงเงินทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ แม้จะมีบางสหกรณ์ออมทรัพย์ปล่อยกู้เงิน แต่ภาครัฐไม่ได้มีมาตรการจูงใจ ทั้งยังมีกระบวนการขออนุญาตและตรวจสอบซึ่งยุ่งยากซับซ้อนและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเราต้องการโซลาร์เสรีและระบบ Net Metering เช่นเดียวกับทั่วโลก”

นายสมานชัย อธิพันธุ์อำไพ เจ้าของเพจช่างเถอะ by พี่ปี้ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่าน ราคาแผงโซลาร์เซลล์ถูกลงอย่างมาก ปัจจุบันขนาด 5 กิโลวัตต์ราคา 1-2 แสนบาท และสามารถคืนทุนภายใน 5-7 ปี เรียกว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีโอกาสเจ๊งเพราะมีคนใช้อยู่แล้ว แต่กลับขาดโอกาสทางการเงิน ต่อให้อยากลงทุน ก็ยากที่จะกล้าลงทุน ถ้าช่วยเหลือทางการเงินและเทคโนโลยีสำหรับการติดตั้ง จะช่วยประชาชนให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีได้ง่ายขึ้น