ส่องตลาดนม หลังต้นทุนน้ำนมดิบพุ่ง เกือบ 23 บ. จ่อปรับราคา UHT 50 สต./กล่อง

นม
ภาพจาก PIXABAY

สำรวจราคาผลิตภัณฑ์นม ต้นทุนน้ำนมดิบพุ่ง 2.25 บาทต่อลิตร ราคาเฉียด 23 บาท  ล่าสุดสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย ยื่นขอปรับขึ้นราคานมสด-ผลิตภัณฑ์นม  กรมการค้าภายใน พร้อมพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริง จ่อปรับ UHT 50 สตางค์/กล่อง

วันที่ 15 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) แถบกรุงเทพฯและนนทบุรี พบว่า ผลิตภัณฑ์นม UHT ขนาด 225 มิลลิลิตร จำหน่ายราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 12-14 บาทต่อกล่อง ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดแต่ละยี่ห้อ ขณะที่ ผลิตภัณฑ์นม UHT ขนาด 200 มิลลิลิตร ราคาเฉลี่ย 12-13 บาทต่อกล่อง

นม UHT ขนาด 160-180 มิลลิลิตร ราคาเฉลี่ยที่จำหน่ายอยู่ที่ 12 บาทต่อกล่อง และเมื่อตรวจสอบรายละเอียดผลิตภัณฑ์นมแต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อ มีสัดส่วนการใช้น้ำนมดิบมากน้อยไม่เท่ากัน เช่น บางกล่องมีส่วนผสมน้ำนมดิบประมาณ 25% หรือจนถึง 100% อาทิ นมรสจืด มีสัดส่วนการใช้น้ำนมดิบ 95-100%

ผู้ผลิตนมขอขึ้นราคา

การตรวจสอบสถานการณ์จำหน่ายเป็นผลจาก นายอาทิตย์ นุกูลกิจ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย ระบุว่า สมาคมได้ทำเรื่องยื่นขอให้กรมการค้าภายใน พิจารณาปรับขึ้นราคานมสด และผลิตภัณฑ์นม เพื่อสอดคล้องกับต้นทุนการรับซื้อนมดิบที่สูงขึ้น

รวมไปถึงต้นทุนอื่น ๆ เช่น ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน เป็นต้น รวมแล้วผู้ประกอบการมีต้นทุนประมาณ 60-70 สตางค์ต่อกล่อง 200 มิลลิลิตร และคาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาต้นทุนรวมทั้งหมด ไม่ใช่จะพิจารณาเพียงต้นทุนน้ำนมดิบอย่างเดียวเหมือนปีที่แล้ว

“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นม ได้รับซื้อน้ำนมดิบในราคาที่สูงขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากผลผลิตน้ำนมโคในท้องตลาด มีปริมาณลดลงจากปัญหาการเลี้ยงโคนมที่มีจำนวนน้อยลง แม้ตอนนี้สถานการณ์ด้านปริมาณจะคลี่คลายบ้างแล้ว แต่ต้นทุนของผู้ประกอบการก็ยังมีอยู่”

สำหรับต้นทุนนมพร้อมดื่มที่ขยับสูงขึ้นนั้นเป็นผลมาจาก ที่ประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) ครั้งที่ 1/2567  มีมติเห็นชอบปรับราคาซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงาน 2.25 บาทต่อกก. จาก 20.50 บาท/กก. เป็น 22.75 บาท/กก. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนม ไปเมื่อต้นเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา

จ่อขึ้นราคา 50 สตางค์/กล่อง

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน  เปิดเผยว่า การพิจารณาปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม เช่น นมพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurized Milk) นมสเตอริไลซ์ (Sterilized Milk) นมยูเอชที (Utra High Temperature Milk: UHT)  พิจารณาตามสัดส่วนการใช้น้ำนมดิบ

โดยผลิตภัณฑ์นมที่ใช้น้ำนมดิบมากที่สุด คือ นมรสจืด ที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับราคาน้ำนมดิบหน้าโรงงาน ขณะที่ ผลิตภัณฑ์นมชนิดอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้น้ำนมดิบ เพราะแต่ละชนิดมีสัดส่วนใช้น้ำนมดิบไม่เท่ากัน โดยคาดว่าราคาน้ำนมดิบที่ปรับขึ้น 2.25 บาทต่อลิตร จะมีผลต่อผลิตภัณฑ์นมปรับขึ้น 40-50 สตางค์ต่อกล่อง สำหรับขนาดมาตรฐานบรรจุ 225 มิลลิลิตร

ทั้งนี้  หากผู้ประกอบการจะเข้ายื่นขอปรับราคาตามต้นทุนที่เกิดขึ้น ก็สามารถดำเนินการได้ โดยจะต้องยื่นเอกสาร หลักฐานที่ครบถ้วน เพื่อใช้ในการประกอบการพิจารณาการปรับขึ้นราคา ซึ่งต้องเป็นข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น  โดยคณะกรรมการจะพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมด ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาในการพิจารณา 15 วัน หากเป็นไปตามเอกสาร ข้อเท็จจริงก็จะพิจารณาให้มีการปรับขึ้น ตามความเหมาะสมต่อไป

UHT ใช้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมการค้าภายในพบว่า ผลิตภัณฑ์นมที่คนนิยมดื่มมากที่สุด คือ นม UHT ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50 % เนื่องจากสามารถเก็บไว้ได้นานและไม่ต้องแช่เย็น ซึ่งจะเป็นนมที่นิยมบริโภคในครัวเรือน

ขณะที่นมพาสเจอร์ไรซ์ มีสัดส่วนน้อยกว่า และจะนิยมใช้ใน ร้านกาแฟและเครื่องดื่มต่าง ๆ ซึ่งหากมีการพิจารณาปรับราคาน้ำนมชนิดนี้ก็อาจจะส่งผลต่อต้นทุนร้านกาแฟและคาเฟ่ต่าง ๆ ซึ่งนับว่าจะต้องติดตามต่อไป