ครม. เห็นชอบร่างความตกลงด้านการขนส่งทางทะเล BIMSTEC 7 ประเทศ

ชัย วัชรงค์

ครม.ไฟเขียว ร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล 7 ประเทศ เสริมความสัมพันธ์ขนส่งทางทะเลในภูมิภาคอ่าวเบงกอล โฆษกรัฐบาล คาด ไทยจะได้เปรียบหากมีแลนด์บริดจ์

วันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ทำเนียบ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า

ที่ประชุม มีมติเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และราชอาณาจักรไทย ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ

ทั้งนี้ ไทยเคยทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางทะเลกับประเทศต่างๆ เช่น เปรู เยอรมนี และเกาหลีใต้ เป็นต้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางทะเลระหว่างภาคีร่างความตกลงฯ ภายใต้หลักเสรีภาพในการเดินเรือและหลักการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

ซึ่งในครั้งนี้เป็นการทำความตกลงระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC จำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการพาณิชยนาวีและการขนส่งทางทะเลในภูมิภาคอ่าวเบงกอล โดยมีขอบเขตการใช้บังคับกับเรือ บริษัทเรือ ลูกเรือ และสินค้าบนเรือ ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน (Standard Operating Procedure : SOP)

ร่างความตกลงฯ ดังกล่าวจะเป็นการสร้างกรอบความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิกที่อยู่ในภูมิภาคอ่าวเบงกอล อำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสด้านการค้าและการลงทุน อันจะนำไปสู่การยกระดับการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของไทยในสาขาความเชื่อมโยงทางทะเลในเวทีระหว่างประเทศ

ภายใต้บริบทด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป และส่งเสริมสถานะความเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางบกและทางทะเลของไทยที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการกำหนดเป้าหมายและท่าทีด้านความเชื่อมโยงทางทะเลที่ไทยต้องการผลักดันในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในฐานะประเทศผู้นำ (Lead country) ด้านความเชื่อมโยงของกรอบความร่วมมือ BIMSTEC

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามร่างความตกลงฯ รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสำหรับการลงนามดังกล่าว และดำเนินการจัดทำหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC)

แจ้งการมีผลใช้บังคับของร่างความตกลงฯ เมื่อกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังกระทรวงการต่างประเทศว่าได้ดำเนินกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้เสร็จสมบูรณ์แล้ว (เดิมจะมีการลงนามร่างความตกลงฯ ระหว่างการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ซึ่งมีกำหนดจัดประชุมวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ กรุงเทพมหานคร)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า การประชุมดังกล่าวถูกเลื่อนออกไป ทำให้ยังไม่ทราบกำหนดวันลงนาม ทั้งนี้ ร่างความตกลงฉบับนี้ไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสองและวรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

ร่างฉบับนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อการค้าทางเรือของประเทศไทย เพราะครอบคลุมประชากร 1,730 ล้านคน และเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต หรือ วันนี้เราไม่มีท่าเรือใหญ่ทางฝั่งตะวันตกเลย ดังนั้น ความตกลงนี้ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นประเทศไทยจะได้เปรียบอย่างยิ่ง