เปิดนโยบาย “ชูชาติ” อธิบดีกรมชลประทานป้ายแดง ชูนวัตกรรมบริหารจัดการน้ำยุคใหม่

ชูชาติ รักจิตร
ชูชาติ รักจิตร

“อธิบดีชูชาติ” นำทีมกรมชลประทาน ขับเคลื่อนองค์กร สู่การบริหารจัดการน้ำยุคใหม่ ภายใต้แนวคิด “RID TEAM PLUS” เชื่อถือได้ หลากหลายนวัตกรรม นำสู่การพัฒนา มุ่งปฏิบัติงานด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญ อย่างโปร่งใส เพื่อความมั่นคงทางด้านน้ำ

วันที่ 17 มกราคม 2567 นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกรมชลประทาน พร้อมมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานชลประทาน ผ่านทางระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 โดยมีรองอธิบดีกรมชลประทานทั้ง 4 คน

ได้แก่ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล นายสุริยพล นุชอนงค์ นายวิทยา แก้วมี และนายเดช เล็กวิชัย พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนัก/กอง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อรับมอบนโยบายในการขับเคลื่อนงานในสายงานต่าง ๆ ตามภารกิจของกรมชลประทาน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้มอบแนวทางการขับเคลื่อนงานตามภารกิจของกรมชลประทาน เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แนวคิด “RID TEAM PLUS” เชื่อถือได้ หลากหลาย นวัตกรรม นำสู่การพัฒนา มุ่งปฏิบัติงานด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญ อย่างโปร่งใส เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เน้นการมีส่วนร่วม ส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อยกระดับการทำงานอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ต่อยอดจากนโยบายที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว โดยกำหนดเป้าหมายหลักในการดำเนินงานไว้ 3 ประเด็น 5 กลยุทธ์ 35 แนวทาง ได้แก่

ประเด็นที่ 1 องค์กรอัจฉริยะ (RID Intelligent Organization) จัดการและบูรณาการระบบเทคโนโลยีฐานข้อมูล (Big Data) พัฒนากระบวนการทำงานสู่ระบบ Digital Platform พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ จัดการความรู้ (KM) เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร พัฒนาระบบชลประทานด้วยเทคโนโลยี (IOT)

ประเด็นที่ 2 ความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) มุ่งพัฒนาแหล่งน้ำโครงการพระราชดำริและเขตพัฒนาพิเศษ เร่งเพิ่มพื้นที่ชลประทานและปริมาณน้ำต้นทุนอย่างต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ พัฒนารูปแบบและแนวทางการรับมือภัยพิบัติทางน้ำ ปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ

ประเด็นที่ 3 เพิ่มคุณค่าการบริการ (Value to service) เสริมสร้างการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน พัฒนาโครงการชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาทรัพยากรบุคคล เสริมสร้างความผาสุกและคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการขับเคลื่อน BCG Economy Model

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะทุ่มเททำงานด้วยความรู้ความสามารถ เพื่อสืบสานพันธกิจด้วยความสุจริต โปร่งใส มุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ เพื่อพี่น้องเกษตรกรและประชาชนชาวไทย ช่วยยกระดับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน