คู่แข่ง ‘ลิเทียม’ มาแล้ว รู้จัก ‘โซเดียมไอออน’ อีสานมีเพียบ ลดต้นทุน 50%

เมื่อมีข่าวการขุดพบแหล่งแร่ลิเทียมในจังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 ก็เกิดคลื่นลูกใหญ่ในอุตสาหกรรมรถอีวีที่ต่างจับตามอง เพราะ “แร่ลิเทียม” ถือเป็นวัตถุดิบชั้นยอดสำหรับการผลิตแบตเตอร์รี่ที่ค่ายรถอีวีต่างจับจองตั้งฐานการผลิต รวมถึงจะเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมแบตเตอร์รี่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากแร่ลิเทียมแล้ว เรายังมี “แร่โซเดียม” ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ ชนิดโซเดียมไอออน ขึ้นใช้ได้เองเป็นแห่งแรกของอาเซียน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)  หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ ชนิดโซเดียมไอออน ให้มาช่วยเทียบ 2 สายแร่แห่งอนาคตอุตสาหกรรมแบตเตอร์รีอีวี ระหว่าง โซเดียมไอออน VS ลิเทียมไอออน ว่า ทั้ง 2 ชนิดนี้ ข้อดี-ข้อเสียต่างกันอย่างไร

แหล่งที่พบ-ปริมาณสำรอง

โซเดียมไอออน

  • โซเดียมไอออนพบได้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) บริเวณจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิและอุดรธานี
  • ปริมาณสำรองที่พบ 18 ล้านล้านตัน

ลิเทียมไอออน

  • ลิเทียมไอออนพบที่แหล่งเรืองเกียรติและแหล่งบางอีตุ้ม จังหวัดพังงา
  • พบทรัพยากรแร่ ประมาณ 14.8 ล้านตัน ซึ่งมีเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตันในแหล่งเรืองเกียรติอยู่และแหล่งบางอีตุ้ม จังหวัดพังงาน

การสำรวจแหล่งโปแตชในประเทศไทยมีมานานหลายสิบปี ซึ่งถือว่าเป็นหนทางออกของปุ๋ยราคาถูก ท่ามกลางวิกฤตปุ๋ยราคาแพงเพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่นอกเหนือจากนั้น ยังมีขุมทรัพย์อีกอย่างนั้นก็คือ แร่โซเดียม (แร่เกลือ) ที่สามารถดึงโซเดียมไอออนมาใช้สร้างเซลล์แบตเตอร์รี่สำหรับรถอีวีได้ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการสำรวจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) บริเวณจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิและอุดรธานี พบว่า มีปริมาณสำรอง 18 ล้านล้านตัน

อีกแร่ที่สำคัญในการผลิตเซลล์แบตเตอร์รี่รถอีวีอย่าง “ลิเทียมไอออน” เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศว่า ขุดพบปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตันในแหล่งเรืองเกียรติและแหล่งบางอีตุ้ม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา

แร่ไหนคุ้มค่าแก่การลงทุน

โซเดียมไอออน

  • ขุดแร่โซเดียมแถมแร่โปแตช ซึ่งเหมาะกับการทำปุ๋ยเพื่อการเกษตร
  • มีโรงถลุงพร้อมรองรับ
  • ผลิตสเกลใหญ่เทียบเท่ากับแบตเตอร์รีลิเทียม ต้นทุนจะถูกกว่า 40-50%
  • ยังไม่มีโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอร์รี่โซเดียมไอออนในไทย

 ลิเทียมไอออน

  • แร่ลิเทียมกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติมให้แหล่งบางอีตุ้ม
  • จังหวัดพังงาไม่มีโรงถลุงแร่ ถ้าจะพัฒนาต้องลงทุนเพิ่ม
  • มีโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอร์รีลิเทียมไอออนแล้ว
  • เสริมห่วงโซ่คุณค่าแบตเตอร์รี่อีวีที่หายไปอย่าง “แหล่งแร่ลิเทียม”

เมื่อขุดเหมือนแร่โซเดียมจะใช้ได้แค่เฉพาะโซเดียมไอออนมาทำเหมืองเท่านั้น แต่ยังได้แร่โปรแตช ซึ่งเป็นแร่ที่สำคัญที่ใช้ในการทำปุ๋ยสำหรับการเกษตร

นอกจากนี้ก่อนที่จะนำแร่โซเดียมไปใช้ในกระบวนการผลิตแบตเตอร์รี่จะต้องผ่านการถลุงแร่เสียก่อน ซึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโรงถลุงแร่ที่พร้อมดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องลงทุนในส่วนนี้เพิ่ม

รวมถึงหากผลิตในสเกลขนาดใหญ่เท่ากัน ต้นทุนจะถูกกว่าแบตเตอร์รี่ลิเทียมไอออนประมาณ 40-50% ทำให้ราคาแบตเตอร์รี่มีแนวโน้มถูกลง 40-60%  แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่มีการลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอร์รี่โซเดียมไอออน

กลับกันบริเวณที่พบแร่ลิเทียมอย่างแหล่งเรืองเกียรติและแหล่งบางอีตุ้ม จังหวัดพังงา ไม่มีโรงถลุงแร่ เนื่องจากไม่ได้มีการทำเหมืองแร่ในบริเวณใกล้เคียงทำให้หากจะใช้แร่ลิเทียมจะต้องก่อสร้างโรงถลุงเพื่อรองรับ

จากการรายงานข่าวของ มติชน ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิตแบตอีวีเข้าลงทุนไทยแล้ว 7 ราย ประกอบด้วย

1.โรงงาน HASCO-CP BATTERY SHOP ของบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอ็มจี

2. บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA

3.บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด กับเทคโนโลยี เบลด แบตเตอรี

4.บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด

5.บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด ผลิตร่วมกับ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด(เครือปตท.)

6.บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด

7.ซีเอทีแอล หรือ Contemporary AmperexTechnology Co., Ltd (CATL) ผู้ผลิตแบตอีวีชั้นนำของโลกของจีน ร่วมกับ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด เครือปตท.

ดังนั้นการมีเหมืองแร่ลิเทียมมาเพิ่มจะช่วยเสริมสร้างห่วงโซ่คุณค่าของแบตเตอร์รี่อีวีให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

โซเดียมไอออน หรือ ลิเทียม อันไหนปลอดภัยกว่า

  • แบตเตอร์รี่ลิเทียมไอออนไม่ระเบิดเมื่อโดนน้ำ
  • หากมีการรั่วไหลหรือช็อตจนทำให้พลังงานที่สะสมข้างในรั่วไหลออกมาจะเกิดอันตรายมากกว่าแบตเตอร์รี่โซเดียมไอออน
  • เพราะแบตเตอร์รี่โซเดียมไอออนมีพลังงานอัดแน่นอนและจุไฟน้อยทำให้เมื่อเกิดการรั่วไหล อุบัติเหตุจะไม่รุนแรงมาก

นอกจากเรื่องความคุ้มค่าและประหยัดกว่าที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานแบตเตอร์รี่แล้ว ยังมีเรื่องของ “ความปลอดภัย” ที่เป็นอีกเรื่องที่ประชาชนเองก็กังวล โดยเฉพาะแบตเตอร์รี่ลิเทียม ที่ถ้าใครเคยเรียนวิชาวิทยาศาสตร์จะรู้ว่า เมื่อแร่ลิเทียมเจอจะระเบิด ทำให้หลายคนกลัว

ความจริงไม่ใช่ เพราะแร่ลิเทียมที่ระเบิดเมื่อโดนน้ำคือ โลหะลิเทียม ซึ่งในกระบวนการผลิตแบตเตอร์รี่ลิเทียมจะใช้เป็นลิเทียมไอออนเท่านั้น

ปกติจะไม่มีการระเบิด แต่อย่างไรก็ตามหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจนทำให้แบตเตอร์รี่เกิดรอยรั่ว หรือใช้งานผิดประเภท ความรุนแรงของการระเบิดจะรุนแรงมากกว่าแบตเตอร์รี่โซเดียมไอออน เนื่องจากมีพลังงานที่สะสมภายในก้อนแบตเตอร์รี่จะอัดแน่น ส่งผลให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะระเบิดรุนแรงมากกว่า

ขณะที่แบตเตอร์รี่โซเดียมไอออนมีพลังงานที่อัดแน่นน้อย ทำให้ความจุไฟเองก็น้อยลงด้วยเช่นกัน ซึ่งแลกกับความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะไม่เกิดระเบิดที่รุนแรงมาก