สรุปดราม่า ลิเทียมไทยไม่ได้เป็นเบอร์ 3 ของโลก

แร่ลิเทียม

เปิดไทม์ไลน์กระแสพบแร่ลิเทียม 14.8 ล้านตันใน จ.พังงา รัฐบาลเผยไทยมีแร่อันดับ 3 ของโลก ทำนักลงทุนตาวาวก่อนเจอดราม่าดับฝันข้อมูลคลาดเคลื่อน ออกชี้แจงกันวุ่นทั้งสัปดาห์

หลังจากกระแสการพบเหมืองแร่ลิเทียมใน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมาทำให้ทั้งประชาชน และนักลงทุนต่างติดตามและตื่นเต้นไม่น้อย และยังถือได้ว่าเป็นข่าวดีที่ประเทศไทยจะได้ประกาศความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เมื่อไทยมีแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถ EV

แต่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับมีดราม่าเกิดขึ้นเมื่อหน่วยงานภาครัฐเอง ออกมาให้เข้อมูลที่ไม่ตรงกัน จนส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จะไล่ไทม์ไลน์ให้ดูอีกครั้ง

แร่ลิเทียม

สำรวจแร่ลิเทียมที่พังงา

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งจากผลการสำรวจพบ “หินอัคนี” เนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์

ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัว และตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจ ขั้นรายละเอียด เพื่อประเมินปริมาณสำรอง

โดยลิเทียมจากแหล่งเรืองเกียรติ หากมีการอนุญาตประทานบัตร เพื่อทำเหมือง คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ที่สำคัญคือเทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเทียมในปัจจุบัน สามารถควบคุมและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงสั่งให้เร่งสำรวจแหล่งแร่ลิเทียมที่มีศักยภาพ เนื่องจากลิเทียมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งนั่นจะสร้างความมั่นคงและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ว่าประเทศไทยจะมีลิเทียมในการผลิตแบตเตอรี่ รองรับการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้

ไทยอันดับ 3 ของโลก

ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม 2567 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงข่าวว่า ไทยสำรวจพบแร่ลิเทียมกว่า 14,800,000 ล้านตัน ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากสุดเป็น “อันดับ 3 ของโลก” รองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา

การค้นพบแร่ศักยภาพลิเทียม-โซเดียม นี้ ถือเป็นทั้งข่าวดี และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครองแร่ลิเทียมมากที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่

ทั้งยังสามารถดึงดูดนักลงทุนไทยและต่างชาติ ที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงาน ท่ามกลางการแข่งขันของนานาประเทศ เพื่อให้ไทยมุ่งสู่การเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าความต้องการลิเทียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี 2568 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตัน ภายในปี 2573

เมื่อข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้หน่วยงานและประชาชนให้ความสนใจ โดยตั้งข้อสังเกตุถึงความเป็นไปได้ว่าไทยนั่นมีแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกจริงหรือไม่ และในบางกระแสมองว่านี่คือข่าวปลอม จากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความสับสนอย่างมาก

ที่พบยังเป็นแค่หินแร่ดิบ

จากนั้นในวันที่ 19 มกราคม 2567 ทาง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงได้ออกเอกสารเพื่อเผยแพร่และอธิบายความจริงทั้งหมดว่า แหล่งลิเทียมเรืองเกียรติ ที่อยู่ระหว่างการสำรวจนั้นมีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน

หากออกแบบแผนผังการทำเหมืองอย่างเหมาะสมและสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ 25% คาดว่าจะสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน

นั่นหมายความว่า การค้นพบปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน คือ การพบแร่ดิบ “ยังไม่ใช่แร่ลิเทียม” ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (แร่ดิบ) ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม (แร่ลิเทียม) ของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกได้

สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า

จากการออกมาชี้แจงดังกล่าว ส่งผลให้หลายคนต่างวิพากษ์วิจารย์และมองว่าเป็นการ “ดับฝัน” ประเทศไทยเลยทีเดียว

ยอมรับข้อมูลคลาดเคลื่อน

และในวันที่ 20 มกราคม 2567 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายอมรับว่าข้อมูลคลาดเคลื่อน และขยายความในรายละเอียดที่คลาดเคลื่อนบางประการ รวมทั้งช่วยสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนเกี่ยวกับผลการสำรวจแหล่งลิเธียมในประเทศไทยใหม่ โดยระบุว่า ไทยได้พบแร่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ อ.ตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งมีแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพอยู่ 2 แหล่งด้วยกัน คือแหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม

จากดราม่าดังกล่าว จึงสรุปได้ว่าข้อมูลทั้งหมดที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เผยแพร่ออกไปตั้งแต่ต้น และทางรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ออกไปนั้นทั้งหมดคือเรื่องจริง ไม่จริงเรื่องเดียวคือ “ไทยไม่ได้มีแร่ลิเทียมมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก”

และล่าสุด กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เตรียมพิจารณาคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก คือ “จังหวัดราชบุรีและจังหวัดยะลา” หลังจากอาชญาบัตรพิเศษสำรวจลิเทียมได้อนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้จำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา

แน่นอนว่าหากไทยสกัดได้แร่ลิเทียมออกมาแล้ว แร่ตัวนี้จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมดึงอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาไทยได้สำเร็จหรือไม่ ต้องรอลุ้นผลสำรวจจากเหมืองที่เหลือ และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า แร่ที่ได้คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งยาวนานไม่ต่ำกว่า 20 ปี หรือตลอดช่วงของการได้สัมปทาน