ค่าบาท-สงครามการค้า ไม่สะเทือนส่งออกไตรมาส 1 ฉลุย

แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าและหางเลขจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ แต่รายงานสถานการณ์ส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2561 โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กลับพบว่า การส่งออกไทยทำยอดนิวไฮมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 22,363 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.06% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกไตรมาส 1 (มกราคม-มีนาคม 2561) ขยายตัว 11.29% มูลค่า 62,829 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นแรงหนุนให้ สนค. ยังคงคาดการณ์เป้าการส่งออกไทยทั้งปี 2561 ว่าจะขยายตัว 8%

ขณะที่ในฝั่งการนำเข้าในเดือนมีนาคม 2561 มีมูลค่า 21,095 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.47% ส่งผลให้การค้าไทยเกินดุล 1,268 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตัวเลขการนำเข้าในไตรมาส 1 (มกราคม-มีนาคม 2561) มีมูลค่า 60,873 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.16% โดยไทยยังเกินดุล 1,956 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้า-ตลาดส่งออกสุดพีก

เมื่อพิจารณาการส่งออกสินค้าในช่วงไตรมาส 1 พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.8% โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง เช่น ข้าว มีปริมาณส่งออก 2.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.1% มูลค่า 1,388 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.1% สินค้าอาหารขยายตัว 11.8% จากการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 5.5% ทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้น 9.5% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้น 15.3% ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 1.1%

ขณะที่สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ยังขยายตัว 11.8% โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง เช่น ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัว 19.9% อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 16.5% เครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัว 5.2% ยกเว้นกลุ่มเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์เท่านั้นที่ติดลบ 9.2% เม็ดพลาสติกขยายตัว 17.5% วัสดุก่อสร้างขยายตัว 16% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบขยายตัว 9.6% สิ่งทอ ขยายตัว 8.5% ผลิตภัณฑ์ยาง 5.3% และน้ำมันสำเร็จรูป 39.3%

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าส่งออกที่ติดลบ คือ กลุ่มยางพารา ปริมาณ 883,413 ตัน ติดลบ 6.8% มูลค่า 1,176 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 34.8% โดยเฉพาะการส่งออกยางพาราไปตลาดจีนซึ่งหดตัวตามภาวะราคา น้ำตาลส่งออก 1.59 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 31.1% แต่ในเชิงมูลค่าส่งออกได้ 591 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.7% เนื่องจากปริมาณน้ำตาลออกสู่ตลาดโลกจำนวนมากทำให้ราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลง

และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ส่งออกได้ 2.86 ล้านตัน ลดลง 6.9% แต่ในเชิงมูลค่า 914 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.2% เป็นผลจากราคาแอลกอฮอล์ในจีนปรับตัวสูงขึ้น แต่ผลผลิตมันสำปะหลังของไทยลดลงจากปีผ่านมา

นอกจากนี้กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับติดลบ 12.3% เป็นผลจากทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปติดลบ 32.1% ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ลบ 2.4%

ขณะที่ภาพรวม “ตลาดส่งออก” ยังมีการส่งออกเติบโตในทุกกลุ่ม (ตามตาราง) ตลาดหลักขยายตัว 13.9% ทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นต่างขยายตัวดี ตลาดศักยภาพสูง ขยายตัว 10.2% เช่น อาเซียน อินเดีย ฮ่องกง เกาหลีขยายตัวดี มีเพียงจีนที่ยังโตแผ่วเพียง 0.6% ส่วนตลาดศักยภาพรอง ขยายตัว 12.7% ตลาดอื่นที่ติดลบ 10.8% ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกทองคำไปยังสวิตเซอร์แลนด์ปรับตัวลดลง

ทิศทางไตรมาส 2 ดีต่อเนื่อง

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 ต่อจากนี้คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐและกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวได้ดีจากการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น จีน และเอเชียขยายตัวได้ดีจากการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ปัจจัยทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอยู่เหนือระดับ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลตามอุปสงค์โลก เหนือจากคาดการณ์ที่สนค.ที่วางไว้ระดับ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงทั้งเรื่องค่าเงินบาท ผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และที่สำคัญ “การประกาศมาตรการทางการค้า” ที่อาจจะลุกลามบานปลายไปยังตลาดส่งออกอื่นในวงกว้าง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหลักกระทบการส่งออกไทย ถือเป็นความท้าทายต่อการส่งออกที่เหลืออีก 3 ไตรมาส แต่หากผู้ส่งออกสามารถกระจายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ และรักษาระดับให้การส่งออกให้ขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 7% หรือเฉลี่ยในแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เชื่อว่าการส่งออกนั้นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน