ส่งออกไทยปี 2566 ติดลบ 1% พาณิชย์คาดปี 2567 พลิกบวก 2% มูลค่า 2.9 แสนล้าน

ส่งออก
ภาพจาก AFP

ส่งออกไทยทั้งปี 2566 หดตัว 1% มีมูลค่า 284,561.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าดีกว่าหลายประเทศ จากทุกหน่วยงานได้ทำอย่างเต็มที่ พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลักดันการส่งออก ขณะที่ เป้าหมายการส่งออก 2567 ตั้งไว้ที่ 1-2% มีมูลค่า 280,000-290,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

วันที่ 26 มกราคม 2567 นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนธันวาคม และทั้งปี 2566 (ตัวเลขการส่งออก) ว่า การส่งออกทั้งปี 2566 หดตัว 1.0% มีมูลค่า 284,561.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นำเข้า หดตัว 3.8% มีมูลค่า 289,754.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า มูลค่า 5,192.5 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี การส่งออกทั้งปี เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 0.6%

การส่งออกของไทยที่หดตัว 1% ถือว่าน้อยกว่าหลายประเทศ แต่ก็ถือว่าการส่งออกไทยในหลายตลาดก็ขยายตัวดีขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ทยอยปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามการส่งออกไปบางตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางภาวะการชะลอตัวของภาคการผลิต และความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้นการส่งออกปี 2567 ตั้งเป้าหมายที่ 1-2% โดยมีมูลค่าอยู่ที่  280,000-290,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกเดือนธันวาคม 2566 มีมูลค่า 22,791.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (795,824 ล้านบาท) ขยายตัว 4.7% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 2.1% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 21,818.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.1% ดุลการค้า เกินดุล 972.8 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนแต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

จากการชะลอลงของภาวะเงินเฟ้อสูง ซึ่งส่งผลดีต่ออุปสงค์และความเชื่อมั่นในการบริโภคของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานโลกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะต่อไป

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 3.2% (YOY) กลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน โดยสินค้าเกษตร หดตัว 8.3% กลับมาหดตัวในรอบ 5 เดือน ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 27.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน สหรัฐ และเซเนกัล) ยางพารา ขยายตัว 13.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย และตุรกี)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 27.9% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เวียดนาม เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัว 13.3% กลับมา

หดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล แต่ขยายตัวในตลาดแคนาดา ลิเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กัมพูชา และจีน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 51.2% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดไต้หวัน สหรัฐ เวียดนาม ลาว และบังกลาเทศ) ทั้งนี้ ปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 0.7%

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.0% (YOY) ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 4.3% กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐ) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 2.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และออสเตรเลีย)

ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 3.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เกาหลีใต้ อินเดีย บราซิล และรัสเซีย) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 25.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และเมียนมา)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เคมีภัณฑ์ หดตัว 6.5% หดตัวต่อเนื่อง 20 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย กัมพูชา และลาว แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย เวียดนาม สหรัฐ มาเลเซีย และไต้หวัน) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัว 12.2% หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย และอิตาลี)

รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ หดตัว 27.2% หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดเบลเยียม สหรัฐ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และจีน แต่ขยายตัวในตลาดเนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสเปน) ทั้งนี้ ปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 1.0%

แนวโน้มการส่งออก 2567

แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายการทำงานไว้ที่ขยายตัว 1.99% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่บรรเทาลง และการสิ้นสุดการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งผลดีต่อปริมาณการค้าโลกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

อีกทั้งยังมีแรงหนุนจากการสำรองสินค้าเกษตรและอาหารตามความมั่นคงทางอาหารและการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก อย่างไรก็ดีมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและต้นทุนสินค้า ผลกระทบจากภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก และเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกมากกว่า 400 กิจกรรม ในประเทศต่าง ๆ ทั้งการบุกตลาดเมืองรอง และการขับเคลื่อนการเจรจา FTA ภายใต้ “นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ของรัฐบาล ซึ่งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อผลักดันการส่งออกไทยให้เติบโตเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป

ส่งออกไทย

ส่งออกไทย

ส่งออกไทย