ชี้เป้าขบวนการ “ยางเถื่อน” ถล่มไทย 2 แสนตัน ฟันกำไร 6 แสนบาท/คัน หวั่นทุบราคาดิ่ง

ยางพารา
Photo by Peggy und Marco Lachmann-Anke on Pixabay

ชี้พิกัด “ยางพาราเถื่อน” ถล่มไทย 2 แสนตัน คาดขบวนการขนส่งกำไรคันละ 6 แสน หวั่นทุบราคาตลาดร่วงไม่ถึงฝัน 100 บาท/กก. แนะรัฐเก็บค่าผ่านแดน กก.ละ 2 บาท เท่าเงิน CESS เตรียมถกบอร์ด กยท.พรุ่งนี้

วันที่ 31 มกราคม 2567 ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมบอร์ด กยท. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 จะมีการรายงานถึงสถานการณ์ยางพารา และมีหลายวาระพิจารณา

ล่าสุดสถานการณ์ยางจากเมียนมาทะลักเข้ามาที่ประเทศไทย ช่องทางสังขละบุรี ประมาณแสนกว่าตัน และทางระนองอีกประมาณแสนกว่าตัน มีทั้งยางแผ่นรมควันทุกแบบ เพราะราคายางทางฝั่งนั้นถูกกว่าไทยประมาณครึ่งต่อครึ่ง จาก 30 กว่าบาท มาขาย 70 บาท/กก.

“รถที่จอดขึ้นยางที่สังขละบุรี กำไรต่อเที่ยวไม่ต่ำกว่า 6 แสนบาท วันหนึ่งขึ้น 30 เที่ยว เงินนั้นไปตกกับใคร มีขบวนการคนไทยมาร่วมด้วย อย่างวันก่อนมีรถยางไปคว่ำที่หาดใหญ่ไม่มีพิกัดอะไรที่จะผ่านไปได้ เป็นยางเน่า ไม่มีคุณสมบัติอะไรจะทรานซิต (ข้ามแดน) ได้ คนที่รับผิดชอบเรื่องทรานซิตจะต้องดู เพราะไม่ว่าจะเป็นผลผลิตอะไรระหว่างประเทศก็แล้วแต่ เรื่องนี้มาส่งผลกระทบให้กับคนไทย”

ดังนั้น ต้องมีมาตรการไม่ให้นำผ่าน หรือถ้านำผ่านก็ต้องมีการเก็บค่าใช้จ่าย กก. ละ 2 บาท เช่นเดียวกับที่เกษตรกรชาวสวนไทยที่ต้องจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ชาวสวนยาง (CESS) เพราะสินค้าไทยผ่านรถไฟจีนก็ไม่ได้ผ่านไปได้ง่าย ๆ เหมือนกัน ซึ่งการนำผ่านจากไทยไปมาเลเซีย และสุดท้ายปลายทางได้ของถูกกว่าซื้อจากไทย ควรต้องมีการพิจารณา เพราะทั้ง ๆ ที่วิ่งผ่านไทยไปทำไมถูกกว่า

สำหรับการกำกับดูแลสินค้านำเข้ามีองค์ประกอบด้วยหลายหน่วยงาน หน่วยงานด่านแรกคือกรมศุลกากร หน่วยงานเกษตรก็เป็นส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ดูแลเกี่ยวข้องเรื่องการลักลอบ ซึ่งเราเข้าใจว่าความตกลงระหว่างประเทศให้ผ่านได้ก็จริง แต่ไทยควรมีมาตรการอะไรรองรับ ไม่ให้ส่งผลกระทบกับตลาดยางพาราของไทยหรือไม่

“การนำเข้า 1-2 แสนตัน อาจจะมีผลต่อราคายางของเรา ที่วางเป้าหมายไว้ ตอนนี้ราคาเราดี สองคนที่มีอำนาจต่อรองราคาขึ้นจากกลไก เราก็พยายามรักษากลไกนี้ไว้ แต่คนที่ลักลอบนำเข้ายางเมียนมาเข้ามา คือ คนที่ทำลายกลไก ยางเมียนมาไม่กี่ กก. แต่เมื่อไปขายจะมีการเปรียบเทียบว่า ราคายางเมียนมามาเท่านี้ แล้วเหตุใดเขาจะต้องมารับซื้อยางไทยที่แพงกว่า”

“แนวโน้มราคายางพาราของไทย ปัจจุบัน กก.ละ 70 บาท มีโอกาสจะขึ้นไปอีก เพราะเราคุยกับทุกฝ่ายร่วมกันแล้วพบว่า เลขที่ควรจะเป็นจริง ๆ ราคายางต้องเป็นเลขสามหลักไม่ใช่ราคานี้ เพราะในอดีตโดนบิดเบือนมานานแล้ว และการที่หากราคายางจะขึ้นไป 100 บาทต่อ กก.นั้น ผู้ใช้ปลายน้ำก็ยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะยังมีแกป (ช่วงห่างของราคาอยู่) ซึ่งเรามองว่าถ้ายางเมียนมายังเป็นแบบนี้ก็คงเห็นจะยาก ถ้าคนยังเห็นแก่ตัวอยู่“

ในส่วนของการประสานงานกับชุดปฏิบัติการพญานาคราชนั้น หากได้ข่าวจะมียางเถื่อน ก็ส่งข่าวไปให้เขา แต่การทำงานทางบอร์ดไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมเขา