ปิดบัญชีส่งออกข้าวไทยปี’66 ทะลุเป้า 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี

ส่งออกข้าว

กรมการค้าต่างประเทศสรุปตัวเลขส่งออกปี 2566 ที่ 8.76 ล้านตัน พร้อมคาดการณ์ส่งออกข้าวปี 2567 ที่ 7.5 ล้านตัน จับตาสถานการณ์การผลิตและการค้าข้าวโลก ผลกระทบเอลนีโญ อินเดียกลับมาส่งออก พร้อมเดินหน้าตามแผนส่งเสริมตลาดข้าว

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2566 ส่งออกข้าวได้ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้น 13.62% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา เป็นการส่งออกเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 178,136 ล้านบาท หรือประมาณ 5,144 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.43% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความต้องการในตลาดโลกสูง การชะลอส่งออกข้าวของอินเดีย และปัญหาโลกร้อน

รณรงค์ พูลพิพัฒน์
รณรงค์ พูลพิพัฒน์

ขณะที่เป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2567 กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์สรุปร่วมกันว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน

ล่าสุดข้อมูลใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-30 มกราคม 2567 มีปริมาณ 1,122,358 ตัน เพิ่มขึ้น 43.96% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขออนุญาตส่งออกข้าวอยู่ที่ 779,654 ตัน

ปัจจัยหนุนส่งออกข้าว 2567

โดยปัจจัยที่คาดว่าจะผลต่อการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ คือผลผลิตข้าวของไทยที่คาดว่าจะลดลงจากปีก่อน 5.87% ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการส่งออกที่อาจเผชิญกับการแข่งขัน และความท้าทายหลายประการ เช่น ปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทำให้ปริมาณอุปทานข้าวโลกเพิ่มขึ้น การนำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมของการบริโภคข้าวลดลง อาทิ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทำให้การแข่งขันทางด้านราคารุนแรงขึ้น

ขณะที่ไทยยังมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ส่งออก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย

อินโดนีเซียซื้อข้าวลดลง อินเดียกลับมาส่งออก

นอกจากนี้ มีสัญญาณว่าอินโดนีเซียอาจซื้อข้าวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีข้าวค้างสต๊อกจากปี 2566 ค่อนข้างมาก ขณะที่จีนมีการผลิตข้าวมากขึ้น และเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำเข้าข้าวให้เป็นผู้ผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรและอาจส่งออกในอนาคต

นอกจากนี้ อินเดียอาจประกาศยกเลิกการระงับการส่งออกข้าวขาว ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนของอินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้เสรีตามปกติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นความท้าทายต่อการส่งออกข้าวไทย

แผนรับมือส่งออกข้าว

นายรณรงค์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรับมือกับความท้าทายในการขายข้าวให้ประเทศคู่ค้า ในประเด็นที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวของประเทศผู้ส่งออกรายอื่น เนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง

ดังนั้น จึงจำเป็นที่ไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก โดยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูง ไม่ควรน้อยไปกว่าผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศผู้ส่งออกอื่น ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ประกอบกับพันธุ์ข้าวต้องมีความต้านทานโรคและแมลง เพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและการกำจัดแมลง

ทั้งนี้ หากไทยไม่มุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว จะทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้าข้าวในตลาดโลกในที่สุด

อัดกิจกรรมส่งเสริมส่งออกข้าว

กรมการค้าต่างประเทศพร้อมเดินหน้าทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวไทย ตามนโยบาย “รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ในการส่งออกไปต่างประเทศ”

โดยกิจกรรมหลักที่จะจัดขึ้นในปีนี้ ประกอบด้วย การจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ “Thailand Rice Convention (TRC) 2024” ในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลกและเจรจาธุรกิจระหว่างกัน

รวมทั้งจะมีการจัดงาน TRC สัญจร ลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลแนวโน้มความต้องการข้าวในตลาดโลกแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กรมมีแผนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์และขยายตลาดข้าวกับแอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย รวมทั้งการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลอินโดนีเซียและจีน รวมถึงประเทศอื่นที่มีความประสงค์ขอซื้อข้าวในรูปแบบ G to G ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญ และจัด Thai Rice Roadshow ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดจีนด้วย