หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช พบเอกสารสำแดงเท็จ 20 ฉบับ จ่อดำเนินคดีวันนี้

หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช

หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช พบหลักฐานใหม่เอกสารสำแดงเท็จ 20 ฉบับ 3 บริษัท ซึ่งเป็น 3 รายเดิมจาก 11 บริษัทที่ติดคดีดีเอสไอหมูเถื่อน 161 ตู้ จ่อดำเนินคดีหมูเถื่อน 14.00 น. ณ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชและโฆษกหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช ร่วมกับนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง และนายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชได้ดำเนินการอย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายปราบปรามและการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ทั้งสินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ ทั้งการสุ่มตรวจห้องเย็น การเร่งรัดติดตาม การตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขยายผลนำไปสู่การดำเนินคดี และมุ่งเป้าถอนรากถอนโคนขบวนดังกล่าวให้สิ้นซาก

ล่าสุด ภายหลังที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 21 ตู้ ที่เป็นสินค้าตกค้าง ณ สำนักงานศุลกากรแหมฉบัง พบว่า 1 ใน 21 ตู้ที่สุ่มตรวจมีสินค้าภายในตู้ไม่ตรงตามที่ผู้นำเข้าได้ขออนุญาตไว้ตอนนำเข้า กลับพบว่า มีชิ้นส่วนหมูปะปนมากับสินค้าประมงภายในตู้คอนเทนเนอร์เดียวกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยกรณีการขออนุญาตนำเข้าสินค้าประมง

ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การตั้ง War Room ร่วมกับกรมประมงและกรมปศุสัตว์เพื่อดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในเชิงลึก กว่า 1 สัปดาห์ ในการสุ่มตรวจสอบเอกสารประกอบการยื่นขออนุญาตนำเข้าสินค้าประมง ในช่วงปี 2564-2566 โดยเริ่มสุ่มตรวจสอบเอกสารขออนุญาตนำเข้าสินค้าประมงของผู้นำเข้าที่ถูกดำเนินคดี

ซึ่งผลปรากฏว่า พบการยื่นเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ มีการใช้เอกสารรับรองสุขอนามัยสัตว์ ซึ่งมีข้อมูลไม่ตรงตามข้อเท็จจริง จำนวน 20 ฉบับ จากผู้นำเข้า 3 ราย ซึ่งเป็น 3 ใน 11 บริษัทที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังคดีลักลอบขนหมูเถื่อนกว่า 161 ตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้เชื่อได้ว่า มีการปลอมแปลงเอกสารเพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ในการขออนุญาตนำเข้า

โดยพบความผิดปกติในข้อมูลในเอกสาร อาทิ

1) มีการระบุหมายเลขรับรองโรงเชือดของประเทศต้นทาง
2) มีการระบุเลขรับรองผู้ส่งออก (SIF) ซึ่งเป็นโรงงานที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสินค้าปศุสัตว์

ซึ่งจากการทวนสอบยืนยันเอกสารกับช่องทางของหน่วยงานผู้ออกหนังสือรับรองของประเทศต้นกำเนิดสินค้า พบว่า ข้อมูลหนังสือรับรองสุขอนามัยสัตว์ฉบับจริงที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบออกเอกสารนั้น ไม่ตรงตามข้อมูลในเอกสารที่ผู้นำเข้าใช้ในการขออนุญาตนำเข้ากับกรมประมง

เช่น เอกสารระบุชนิดเป็นปลาจวดแช่แข็งในพิกัดศุลกากร 0303 แต่ข้อมูลจากต้นทาง ระบุสินค้าเป็นชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง ในพิกัดศุลกากร 0203 จากข้อมูลข้างต้นจึงเชื่อได้ว่าเอกสารหนังสือรับรองสุขอนามัยสัตว์ ที่ผู้นำเข้านำมายื่นประกอบการขออนุญาตต่อกรมประมงนั้น มีการปลอมแปลงเอกสารขึ้นมา

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 14.00 น. หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชเดินทางไปยื่นหนังสือผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ณ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยแจ้ง 4 ข้อหาดังนี้

  • การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
  • การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน มาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสารต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
  • มาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

พร้อมส่งหนังสือด่วนถึงประเทศต้นทางอย่าง บราซิล สเปน และอีกหลายประเทศที่เกี่ยวข้องให้เร่งหาต้นตอหมูเถื่อนว่า เป็นขบวนการร่วมกันทั้งในไทยและต่างประเทศหรือไม่ พร้อมขอความร่วมมือตรวจสอบเอกสารก่อนที่จะนำเข้ามาในไทย ทั้งเร่งเดินหน้าตรวจสอบห้องเย็นที่อาจเล็ดลอดให้ครบ 100% ภายใน 3 เดือน