“ปีชงกระทรวงเกษตรฯ” ความท้าทายดันจีดีพี 3 เท่าใน 4 ปี

ปีชงกระทรวงเกษตร

หลังจากรับตำแหน่ง “ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเดินหน้านโยบายขับเคลื่อนจีดีพีภาคเกษตร ตามโจทย์ของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ต้องการให้เพิ่มรายได้เกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายปรับจีดีพีให้ได้ 3 เท่าใน 4 ปี หรือภายในปี 2570

จีดีพีเกษตร ปี’66

โดยมีอัตราการเติบโตของ GDP ภาคการเกษตร (ณ ราคาที่แท้จริง) ในปี 2566 ขยายร้อยละ 0.3 มีมูลค่า 680,640 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากปริมาณน้ำที่เพียงพอ การบริหารจัดการฟาร์มที่ดี และเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น

ส่วนในปี 2567 กระทรวงเกษตรฯ คาดว่าจีดีพีมีแนวโน้มการขยายตัวร้อยละ 0.7-1.7 จากปัจจัยในเรื่องนโยบายของภาครัฐ (ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้) ความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดีแทบทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริโภค

ลุยจัดทำงบประมาณ

ล่าสุดร้อยเอกธรรมนัส พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 2 คน และคณะผู้บริหารนำโดย นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมหารือการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ร่วมกับสำนักงบประมาณ

ซึ่งการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มุ่งเน้นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรให้เห็นเป็นรูปธรรม

โดยเน้นงานสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร 2) การจัดทำข้อมูลเกษตรกร/แปลงเกษตรกรในระบบดิจิทัลและการประกันภัยพืชผล 3) การส่งเสริมฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน 4) การบริหารจัดการน้ำ 5) การผลักดันสินค้าเกษตรมูลค่าสูง

6) การส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็ง 7) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร 8) การเปลี่ยนแปลงของสภาวะสิ่งแวดล้อม และ 9) การทำงานและการวิจัย ภายใต้กรอบความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี (2567-2570)

“กระทรวงเกษตรฯ ได้หารือถึงกรอบงบประมาณปี 2568 ตามนโยบายสำคัญของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งเน้น 142 ประเด็นสำคัญ และมีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 26 ประเด็น อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานที่จะตอบสนองนโยบายของรัฐบาล

ทั้งในเรื่องภารกิจเร่งด่วน การแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกร การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการเกษตร ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ การจัดทำคำของบประมาณดังกล่าวจึงมุ่งสู่เป้าหมายที่จะพัฒนา โดยให้เกิดการบูรณาการของทุกหน่วยงานในสังกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป”

เผือกร้อนรับต้นปี

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ นับได้ว่าเป็น 1 ใน 10 กระทรวงหลักที่ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปีสูงสุดในปี 2567 ถึง 118,596 ล้านบาท ภาพใหญ่มีการวางหมุดหมายการทำงานที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอน

แต่อีกด้านหนึ่งภาพการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา กลับเกิดเหตุการณ์ปัญหาต่อเนื่องยิ่งกว่าจะเรียกว่า “ปีชง” ไล่เรียงมาตั้งแต่การตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนสัตว์ที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นหมูเถื่อน ตีนไก่เถื่อน ยังปราบไม่หมด ทั้งหมูเถื่อน 161 ตู้ น้ำหนัก 4,500 ตัน ที่ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง

มีผู้เกี่ยวข้องกระทำความผิด 18 บริษัท มาจนถึง 2,385 ใบขนที่ตรวจสอบพบการสำแดงเท็จเป็นสินค้าชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นพอลิเมอร์ ปลาแช่แข็ง รวมน้ำหนัก 60,000 ตัน ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้ามาทำงานคู่ขนานกับชุดพญานาคราช ที่กระทรวงเกษตรฯแต่งตั้งขึ้น จนสามารถจับและกำลังตั้งคณะกรรมการสอบความผิดทางวินัยกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ 9 ราย

ประเด็นดังกล่าวยืดเยื้อมานาน 2 ปี ที่ส่งผลกระทบต่อราคาหมูในประเทศตกต่ำลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จนกระทั่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติต้องออกมาประกาศขอปรับราคาเข้าสู่เป้าหมาย 80 บาท/กก.

ล่าสุดยังมี “โครงการโคบาลชายแดนใต้” ที่มีการร้องเรียนถึงปัญหาการดำเนินงานในเฟสแรก 93 ล้านบาทที่จัดหาโคไม่ตรงปก ผิดสเป็ก ซึ่งหากไม่มีการตรวจสอบอาจจะกระทบถึงภาพรวมโครงการที่มีมูลค่า 1,566 ล้านบาท รวมโคกว่า 3,000 ตัว ซึ่งถูกเปิดเผยตามมาในวันที่ 25 มกราคม 2567

ในวันถัดมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 เกิดเหตุปฏิบัติการซ้อนแผนจับกุม “นายศรีสุวรรณ จรรยา” และผู้ร่วมขบวนการอีกหลายรายในการรีดทรัพย์ “นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์” อธิบดีกรมการข้าว เป็นเงิน 3 ล้านบาท ซึ่งภายหลังอธิบดีต่อรองเหลือ 1.5 ล้านบาท เพื่อแลกกับการไม่ร้องเรียน หรือกลั่นแกล้งให้ถูกตรวจสอบ

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว “อธิบดีกรมการข้าว” เป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ให้ตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มคนดังกล่าว โดยอธิบดีร่วมวางแผนล่อจับพร้อมแอบถ่ายคลิปวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน

หลังจากที่นายศรีสุวรรณ อ้างว่าพบข้อพิรุธในการใช้จ่ายงบประมาณรัฐในการดำเนินโครงการหลายโครงการในช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้มูลค่ากว่า 19,334 ล้านบาท ที่อาจส่อไปในทางทุจริตหรือไม่

เรื่องทั้งหมดอยู่ระหว่างการดำเนินคดี และสืบสาวราวเรื่องถึงความเชื่อมโยงกับบุคคลต่าง ๆ

กระทรวงไฟไหม้

ฝุ่นตลบยังไม่ทันจาง ข้ามมาอีก 1 สัปดาห์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกิดไฟไหม้ในช่วงค่ำของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 บริเวณชั้น 2 ซึ่งเป็นฝั่งห้องทำงานของนายไชยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ผู้ที่ประกาศสงครามกับหมูเถื่อน

โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเก็บหลักฐานบางส่วนไปวิเคราะห์ สาเหตุที่แท้จริง เพราะจากรายงานระบุว่าห้องต้นเพลิงนั้นเป็นห้องเตรียมอาหาร โดยเจ้าหน้าที่พบ “สายไฟฟ้ามุมห้องเตรียมอาหารถูกหลอมละลายหนักที่สุด” คาดว่าน่าจะเป็นจุดต้นเพลิง จากนั้นลุกลามไปยังห้องของคณะทำงานของนายไชยา ซึ่งมีเอกสารสำคัญเก็บอยู่เป็นจำนวนมาก

ซึ่งในตอนแรกสันนิษฐานว่าเกิดจากการล้างแอร์ แต่เมื่อตำรวจได้สอบปากคำแม่บ้านประจำอาคาร ยืนยันว่าไม่มีเรื่องการซ่อมแอร์ แต่มีเพียงบริษัทกำจัดปลวกนัดหมายพนักงานเข้าไปฉีดปลวกในห้องดังกล่าว แต่เมื่อถึงเวลานัดพนักงานไม่มา แม่บ้านจึงปิดล็อกห้องแล้วกลับไป และไม่มีใครเข้าไปในห้องที่เกิดเหตุได้ แต่ต้องอาศัยระยะเวลาในการตรวจสอบว่าเป็นการจงใจวางเพลิงหรือไม่ โดยอาศัยการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในอาคาร และจุดใกล้เคียงที่เกิดเพลิงไหม้ เพื่อหาว่ามีใครเข้า-ออกก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้

อย่างไรก็ตาม นายไชยาก็ออกมายืนยันว่าเอกสารสำคัญไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะจัดเก็บไว้ในระบบคลาวด์ และย้ำว่าไม่เคยยืมมือกรรมาธิการในการร้องเรียนเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระทรวงตามที่มีการกล่าวอ้าง

ทั้งนี้ ในส่วนของ “นายไชยา” ได้รับมอบหมายจาก “ร้อยเอกธรรมนัส” ให้กำกับดูแล 4 กรมคือ กรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลแก้ปัญหาหมูเถื่อน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งเพิ่งจะถูกนายศรีสุวรรณร้องเรียนให้กรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณตรวจสอบเรื่องการประมูลซื้อเครื่องบิน 1,188 ล้าน เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ก่อนหน้าที่จะไปร้องเรียนเรื่องกรมการข้าวดังกล่าว นอกจากนี้ ยังกำกับดูแลกรมหม่อนไหม และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย

ทั้งหมดนี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาที่แท้จริง แต่สิ่งที่น่าห่วงกังวลคือความวุ่นวายคลื่นใต้น้ำเหล่านี้จะเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวง และส่งผลต่อกำลังใจของเจ้าหน้าที่และพนักงานในกระทรวงนับพันนับหมื่นคนหรือไม่ อย่าว่าแต่การขับเคลื่อนรายได้เกษตรกรไปให้ถึง 3 เท่าเลย