ปตท. ผนึกพลังงานชูโมเดล JDA มาเลเซียปลดล็อกแบ่งปันผลประโยชน์ OCA 50%

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

สวพน. ผนึกสถาบันวิทยาการพลังงาน จัด THAILAND ENERGY EXECUTIVE FORUM กระหึ่มปลัดพลังงานประสานเสียง ปตท.เร่งเครื่องเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา “OCA” ชูโมเดล JDA มาเลเซีย ปลดล็อกแบ่งปันผลประโยชน์ฝั่งละ 50%

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ในงานสัมมนา Thailand Energy Executive Forum มีการเสวนาเรื่อง “ทิศทางพลังงานไทยปี 2567” โดยระหว่างการเสวนานั้น นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ว่า แม้การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวจะเป็นหน้าที่ของภาครัฐ แต่ในมุมของ ปตท. มองว่าอาจจะศึกษาจากโมเดลพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area : JDA)

เพราะเรื่องการแบ่งดินแดนน่าจะสรุปได้ จะต้องเข้าใจก่อนว่า แต่ละประเทศสักตารางนิ้วเขาก็ไม่ยอมกัน ดังนั้นเราควรจะหารือกันถึงวัตถุดิบที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งการขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์ก็ไม่ได้ยาก เพราะเรามีแหล่งก๊าซธรรมชาติใกล้กับพื้นที่ทับซ้อนอยู่แล้ว ฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานและท่อก๊าซก็พร้อมใช้งาน ทำให้การจะขุดเจาะและนำขึ้นมาใช้ก็ง่าย หรือจะทำท่อส่งไปกัมพูชาก็สะดวก

“หรืออีกโมเดลที่เราจะสร้างมูลค่าเพิ่มและดึงกัมพูชาเข้ามาร่วมลงทุนกับเรา โดยโมเดลทางด้านธุรกิจไม่ยาก แต่ทางด้านการเมืองน่าเห็นใจ พูดตรง ๆ เลยว่ากัมพูชาไม่น่ามีปัญหา แต่ที่จะมีปัญหาคือไทย มีการพูดเรื่องนี้ตลอด เดี๋ยวก็หาว่าขายชาติบ้าง เราน่าจะต้องลด ๆ ในตรงนี้หน่อยเพื่อให้เกิดข้อสรุปได้ และเราจะได้ไม่มีปัญหา” นายอรรถพลกล่าว

ทางด้าน ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ยังกล่าวระหว่างสัมมนาครั้งนี้ว่า สำหรับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาถือเป็นความหวัง หากรัฐบาลชุดนี้ทำไม่ได้ ไม่ต้องหวังรัฐบาลชุดอื่น หากสำเร็จจะช่วยให้ค่าไฟถูกลงได้ แต่ต้องควบคู่กับแหล่งในประเทศผลิตตามเป้าหมาย ในระยะยาวราคาค่าไฟจะลงมาเหลือ 3 บาทได้ แต่เวลานี้ด้วยแหล่งก๊าซที่มี รัฐบาลจึงต้องเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อให้ราคาไม่สูงมากนัก

Advertisment
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ

เศรษฐาเดินหน้าเจรจาขุมทรัพย์กลางทะเล 20 ล้านล้านบาท

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน” ในการเสวนา Thailand Energy Executive Forum จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ว่า ภาคพลังงานเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะ “พลังงานสะอาด” เพราะหลังจากการเดินทางโรดโชว์ในหลายประเทศ พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศนั้นคือ “พลังงานสะอาดที่ราคาจับต้องได้” ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเดินหน้าผลักดัน 3 เรื่อง

    1. เร่งพัฒนาแหล่งพลังงานในอ่าวไทย
    2. เร่งพัฒนาศักยภาพพลังงานและพื้นที่สำหรับการผลิต (Clean and Green Energy) ซึ่งต้องมีการอัพเกรดระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อเสริมความพร้อมระยะยาว
    3. ดูแลราคาพลังงาน ต้องเป็นราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ เพื่อช่วยประชาชน เกษตรกร และภาคเอกชนไปพร้อมกันผ่านกลไกตลาดที่โปร่งใส เป็นธรรม

โดยเฉพาะเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่ทั้งสองประเทศต่างเห็นพ้องให้มีการเจรจา โดยในส่วนของการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Areas-OCA) ระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและได้มีการหารือกับสมเด็จฯฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาแล้ว ล่าสุดมีความเห็นที่ตรงกันว่าต้องเร่งพัฒนาและใช้ประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ แม้ว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในเรื่องของเขตแดนก็ถึงเวลาแล้วที่ทั้งสองประเทศจะพูดคุยกันโดยเร็วเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลายคนสนใจและบอกว่าเป็นขุมทรัพย์ใต้ทะเลและเป็นขุมทรัพย์ทางพลังงาน ซึ่งในวันนี้บางท่านบอกว่ามีมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องที่ handle with care เพราะว่ามีทั้งเรื่องราคาพลังงานและเขตแดนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเราจะต้องนำสินทรัพย์นี้ออกมาใช้โดยเร็วที่สุดในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว

อย่างไรก็ตาม เรายังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติอยู่ดี เรื่องนี้จึงต้องมีการเดินหน้าเจรจาให้เร็ว โดยเราจะพยายามแยกแยะปัญหาเขตแดนกับการแบ่งผลประโยชน์ โดยจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อหาทางออกของราคาพลังงาน”

Advertisment
เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

สรุปความคืบหน้าพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชาตั้ง “ทีมเฉพาะกิจ”

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต (Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและร่วมหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในหลาย ๆ ด้าน

ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ แรงงาน ตลอดจนประเด็นร้อนอย่าง “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างสองประเทศ”  ที่จะช่วยแก้วิกฤตราคาพลังงานและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ จึงเห็นชอบให้มีการตั้ง “ทีมเฉพาะกิจ” (Joint Technical team for explorer) พร้อมหารือเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป