เศรษฐา ย้ำให้ความสำคัญพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน 20 ล้านล้าน ขอเวลาเจรจากัมพูชา

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐาย้ำพลังงานถือเป็นเรื่องสำคัญ จะทุบค่าไฟโดยไม่สนใจการตลาดจะกลายเป็นรัฐประหารทางเศรษฐกิจ ขอเวลาเจรจากัมพูชาดึงขุมทรัพย์ทับซ้อนมาใช้ให้เร็วที่สุด แต่ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้อง Infinity Ballroom โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานเปิดงาน Thailand Energy Executive Forum และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน”

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งว่า พลังงานถือเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต ที่เมื่อวานนี้ในที่ประชุม ครม. ได้มีข้อสั่งการในการช่วยเหลือลดค่าไฟสำหรับเครื่องสูบน้ำการทำนา เนื่องจากการเกษตรถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่จำเป็นจะต้องทำเพื่อลดช่องว่างทางสังคม

เศรษฐา ทวีสิน

ทั้งนี้ เกษตรกรต้องการความช่วยเหลือและการช่วยเหลือเกษตรกรก็ต้องช่วยเหลือแบบอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่รอพึ่งการสนับสนุนจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวในทุกเรื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่าพลังงานเป็นต้นทุน และองค์ประกอบใหญ่อย่างหนึ่งของการทำเกษตร ยอมรับว่าพลังงานโซลาร์เซลล์ถือว่าเป็นพลังงานที่ถูกที่สุด ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนการทำตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทำให้ค่าไฟถูกลงและเกษตรกรใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันพลังงานและอุตสาหกรรมก็มีความสำคัญ หลังจากตนเองได้รับตำแหน่ง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินทางไปต่างประเทศ พบว่าสำนักงานส่งเสริมการลงทุนไทยหรือบีโอไอ มีคนรุ่นใหม่เข้าใจบริบท เข้าใจนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในไทย เข้าใจสิทธิทางด้านภาษี และความเป็นอยู่ของคนไทยดีที่สุด ซึ่งไทยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินที่กำลังจะเปิดใหม่อีกเฟส และท่าเรือน้ำลึก ซึ่งต่างชาติตระหนักและมองว่าเป็นจุดบวกของไทย พร้อมสนใจลงทุนด้านพลังงานสะอาด

โดยเฉพาะรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG index) ของไทยอยู่อันดับที่ 30 กว่าของโลก อยู่สูงที่สุดของอาเซียน ดังนั้นไทยมีดีกว่าหลายประเทศ หลังจากนี้ตนเองจะเดินทางไปพูดคุยกับประเทศในแถบยุโรป โดยเดือนหน้าจะเดินทางไปเยอรมนี เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามา โดยเฉพาะนักลงทุนทั่วโลกถามถึงพลังงานสะอาด โดยเฉพาะสหรัฐและจีน

ดังนั้นเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานจะให้ความสำคัญและตระหนักดีในเรื่องนี้ ที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาได้ ซึ่งประเทศไทยมีดีหลายอย่าง ยอมรับว่าประเทศไทยโชคดี เพราะในอดีตเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมามีเขื่อน เช่น เขื่อนภูมิพล มีส่วนสำคัญช่วยในเรื่องของไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตสามารถพัฒนาทำเรื่องโซลาร์เซลล์ได้ จึงต้องดูความเหมาะสมและเรื่องการลงทุน ว่าจะสามารถดึงพลังงานมาใช้ได้เท่าใด

หากทำได้ถือว่าเป็น soft of energy และเป็นจุดขายของประเทศไทยต่อไป จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปดูแล ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ จ.สระบุรี ทราบว่าเกษตรกรสามารถขายข้าวได้ตันละ 11,000-12,000 บาทต่อตัน แต่ก็ยังมีต้นทุนทางการผลิต

นายเศรษฐากล่าวถึงการหารือกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่ผ่านมาว่า กัมพูชาเป็นประเทศที่เรามีความสัมพันธ์กันดี มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง ซึ่งตนกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชามีความสัมพันธ์อันดี ได้หารือในประเด็นชายแดน การค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนระหว่าง 2 ประเทศ การดูแลแรงงานชาวกัมพูชาที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทย เนื่องจากแรงงานไทยเองไม่เพียงพอ

โดยนายกรัฐมนตรีกัมพูชาขอให้ไทยดูแลค่าแรงให้เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ผมไปทุกเวทีก็ขอร้องวิงวอนทุกท่านว่าขึ้นไม่ได้ หากฐานรากของสังคมไม่ถูกยกขึ้นมา ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว วันนี้อยู่ที่ 340 บาท ขึ้นมา 12% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายคนส่งลูกไปเรียนเมืองนอก 10 ปีที่แล้วเงินเดือน 30,000 บาท วันนี้เงินเดือน 34,000 บาท ท่านรู้สึกอย่างไร

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเจรจาอีกเรื่องที่สำคัญ คือ OCA หรือพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งมูลค่ามหาศาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวเลขไหนที่คนพูดถึง อาจพูดถึง 20 ล้านล้านบาทก็ได้ แต่เราก็มีปัญหาเรื่องของชายแดน เรื่องเขตแดนอยู่ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและหลายภาคส่วนให้ความสนใจ

ทั้งนี้ ขอแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ พื้นที่ทับซ้อนกับเรื่องของขุมทรัพย์ที่อยู่ใต้ทะเล เรื่องนี้จะต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องนี้ และจะพยายามนำสินทรัพย์เช่นนี้ออกไปใช้ได้เร็วที่สุดในการเปลี่ยนผ่าน brown energy ไปสู่ green energy ขอให้สบายใจว่าเราจะเดินหน้ากันต่อไป โดยพยายามแยกแยะระหว่างปัญหาพื้นที่ทับซ้อนและปัญหาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ แต่เรื่องนี้ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ เนื่องจากจะส่งผลต่อเรื่องราคาพลังงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องค่าพลังงาน มีการสอบถามกันมาว่ามีกลไกอะไรบ้าง สามารถทำอะไรได้บ้าง ทั้งค่า PPA การขอใช้กริดของโรงงานไฟฟ้าในปัจจุบัน (grid electrical) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันสำหรับการจ่ายไฟฟ้าจากผู้ผลิตต่าง ๆ ไปยังผู้บริโภค กลไกตลาดจะไม่สามารถทำได้ พลังงานที่ผลิตขึ้นมาจะต้องมีผู้จ่ายอยู่ดี ซึ่งอาจจะเป็นเงินของพวกเราทุกคนที่โอนกลับไปจ่ายให้กับผู้ผลิต ทำให้ต้องเก็บเงินกลับคืนอยู่ดี แต่ความเชื่อมั่นและความสูญเสียประเมินค่าไม่ได้

“การทุบโดยไม่ต้องสนใจกลไกการตลาด จะทำให้เกิดรัฐประหารทางเศรษฐกิจ เราอาจจะได้ค่าไฟถูกอยู่ไม่กี่วัน ก่อนที่จะควักเอาเงินของประชาชนมาจ่าย การลงทุน การส่งออก การจ้างงาน อยู่ในใจของคนทั้งโลกไปนานนับปี ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่ว่าเรามีกลไกการสนับสนุนเรื่องภาษีที่ดีแล้ว มีมาตรการต่าง ๆ ที่ทำให้คนมาอยู่ในประเทศไทยอย่างมีความสุข แต่เรื่องราคาพลังงานก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ หากมองในระยะยาวเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง พร้อมที่จะดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเพื่อมาตั้งฐานการผลิต” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีการตั้งคำถามว่าเหตุใดรถไฟฟ้าความเร็วสูงจึงไม่สร้าง ซึ่งจะสามารถประหยัดเวลาได้หลายชั่วโมง แต่ขอให้จินตนาการดูว่าถ้าโครงการทำไปถึงหนองคาย นักธุรกิจที่นั่งอยู่คงทราบว่าต้องผ่านกี่โต๊ะในการส่งสินค้าออกไปได้ กรมศุลกากร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สาธารณสุข และแรงงาน ต้องผ่านกี่โต๊ะ กี่แสตมป์

ฉะนั้นจะสามารถทำเป็น single window, single form ได้หรือไม่ เพราะหากลงทุนหลายแสนล้าน หรือล้านล้านก็ต้องมาเสียเวลาอยู่ดีในด่านต่าง ๆ 2-3 ชั่วโมง โดยรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ตนมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ขณะเดียวกันต้องทำให้อำนวยความสะดวกทางธุรกิจได้ดีขึ้น หลายคนพูดถึงเรื่องกิโยตินกฎหมาย ที่พูดกันมานานเท่าไหร่แล้ว

ฟังดูแล้วมันเท่มันเก๋ แต่มันทำไม่ได้ มันยังทำไม่สำเร็จ ฉะนั้นแล้วถึงเวลาหรือยังที่เราต้องพูดคุยอย่างจริงจัง ซึ่งอะไรทำได้ก็ต้องทำก่อน ผมไม่อยากใช้คำว่าควิกวิน เพราะใช้ไปแล้วก็จะถูกต่อว่าว่าคิดแต่จะควิกวินอย่างเดียวในการเปลี่ยนโครงสร้าง ฉะนั้นหลายท่านที่เป็นนักธุรกิจก็ทราบการจะเปลี่ยนโครงสร้างต้องเปลี่ยนระยะเวลานานเท่าไหร่ในสังคมไทย

ดังนั้น เรื่องอะไรที่เราทำได้เราจะทำก่อน อาทิ การขนถ่ายสินค้า ผมได้มอบให้กรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพไปแล้ว ส่วนเรื่องแลนด์บริดจ์ก็เกี่ยวข้องด้วยในเรื่องการกระจายสินค้า ซึ่งประชาชนเรามีไม่ถึง 70 ล้านคน ฉะนั้นการที่เขามาตั้งโรงงานหลาย 100 ล้านบาทหรือหลายล้าน ๆ บาทนั้น เขาจะต้องมาตั้งเพื่อส่งออกสินค้าส่งออก

ฉะนั้น ถ้ามีการส่งออกแค่ท่าเรือน้ำลึกแต่ไม่มีแลนด์บริดจ์ ก็จะทำให้คิวการส่งยาวใช้เวลานาน มีปัญหาเกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าโลกเราไม่มีการทำโครงสร้างพื้นฐานที่มีขนาดใหญ่มโหฬารรองรับการขนถ่ายสินค้าทั่วโลกมันจะมีปัญหา ซึ่งผมเชื่อว่าคนในประเทศไทยสนับสนุนเรื่องนี้

ส่วนโครงการแลนด์บริดจ์ มีความสำคัญในด้านการขนส่ง รองรับหลังจากช่องแคบมะละกาคับแคบ ดังนั้นการขนถ่ายสินค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร ไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ รองรับการขนถ่ายสินค้าทั่วโลก

จากที่เดินทางไปหลายประเทศก็มีคนสนใจ เพราะเขามองภาพรวมในเรื่องการขนถ่ายสินค้าของโลก พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีแผนเรื่องพลังงานสะอาดที่ชัดเจน แต่จะทำเพียงเรื่องเดียวไม่ได้ ฉะนั้นทุกเรื่องต้องทำควบคู่กันไป และวางหลักฐานกันไป ซึ่งหากไม่จบในรัฐบาลนี้ก็ต้องเป็นรัฐบาลต่อไปที่ต้องทำเพราะเป็นความสำคัญ

เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ประเทศไทยไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เลย มันเป็นไปได้อย่างไร ฉะนั้น วันนี้ต้องมีการประชุมโครงสร้างพื้นฐานต่อไปควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญเรื่องพลังงานสะอาด ชื่นชมเพราะประเทศไทยเป็นที่ชื่นชมของนานาชาติที่ทำได้ดีมาก ภารกิจพวกเราทุกคนในฐานะนักอุตสาหกรรม นักธุรกิจระดับท็อปของประเทศ ไม่ใช่หยุดแค่พลังงานสะอาด แต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ค่าแรงขั้นต่ำ ทุกอย่างต้องทำควบคู่กันไป

มีผู้สื่อข่าวถามผมว่า สิ่งที่แปลกใจที่สุดในการเป็นนายกรัฐมนตรีคืออะไร ผมจึงตอบกลับไปว่า The amount of power I have, but most of the time the lack of it. มันมีกลไก การบริหารจัดการแผ่นดินเยอะ ซึ่งเป็นกลไกที่เราต้องการความสมัครสมานสามัคคี ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย และเป็นกลไกที่เราต้องสร้างบรรยากาศที่ดีในการพูดคุยกันในเรื่องที่เห็นต่าง เชื่อว่านักธุรกิจที่มาร่วมงานในวันนี้จะทราบถึงความหวังดีของผมและของรัฐบาล ที่จะผลักดันกลไกอุตสาหกรรมไปข้างหน้าควบคู่เรื่องของพลังงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พลังงานเป็น key factor ในการ drive ประเทศไปข้างหน้า ทุกภาคส่วนตั้งแต่บริษัทต่างชาติที่ไปชักชวนให้มาลงทุน ตลอดจนภาคส่วนเกษตรกร ต้องการพลังงานสะอาดที่ราคาถูกทั้งสิ้น ซึ่งในปี 2040 เราได้คาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) คือ เป็นพลังงานสะอาด มากกว่า 50% ของไฟฟ้าทั้งหมด เราจึงต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักคือ 1.แหล่งพลังงาน รัฐบาลต้องเร่งเจรจาพัฒนาแหล่งพลังงานในอ่าวเพิ่ม

2.ความพร้อม ซึ่งเรามีศักยภาพที่ได้เปรียบกว่า เพราะมีพื้นที่สำหรับการผลิต clean and green energy แต่ต้องมีการอัพเกรด energy storage เพื่อเสริมความพร้อมระยะยาวด้วย 3.ราคาพลังงาน ต้องเป็นราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ จะช่วยประชาชนและภาคเอกชนไปพร้อมกัน ผ่านกลไกตลาดที่ถูกต้อง

“จึงจะเป็นหนทางที่ทำให้เรามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่มีพลังงานเป็นส่วนขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน” นายกรัฐมนตรีกล่าว