พาณิชย์ เตรียมเปิดเจรจาซื้อ-ขาย ผลไม้ รองรับมาตรการกีดกันทางการค้า

ผลไม้

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัด “โครงการจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่น ๆ เพื่อรองรับมาตรการกีดกันทางการค้า” หนุนเกษตรกร ผู้ประกอบการไทย ขยายตลาดต่างประเทศล่วงหน้า รองรับฤดูผลผลิตผลไม้ ปี’67

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเตรียมจัด “โครงการจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่น ๆ เพื่อรองรับมาตรการกีดกันทางการค้า” วันที่ 28 ก.พ. 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ซึ่งปีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อเร่งหาตลาดล่วงหน้าให้กับผลไม้ฤดูกาลผลิตปี 2567 ที่จะกำลังจะออกสู่ตลาด

ทั้งนี้ กรมได้เชิญผู้นำเข้าที่มีศักยภาพจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น จีน สหภาพยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และกลุ่มประเทศ CLMV เป็นต้น เข้าร่วมงาน โดยมีผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมโครงการกว่า 100 บริษัท มีสินค้าเป้าหมายหลัก อาทิ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปต่าง ๆ ซึ่งเป็นสินค้าเรือธงที่มีการส่งออกสูงสุด

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

นอกเหนือจากกิจกรรมจับคู่ธุรกิจการค้า ที่จะมีทั้งรูปแบบ Onsite และ Online ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของโครงการแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ กิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้และผลิตภัณฑ์แปรรูป “Think Tropical Fruits Think Thailand” โดยการแจกชิมเพื่อสร้างการรับรู้ และช่วยกระตุ้นการเจรจาการค้า กิจกรรมส่งเสริมผลไม้และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่

แพลตฟอร์ม thaitrade.com และผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม e-commerce ที่ร่วมออกคูหา กลุ่มผู้ประกอบการห่วงโซ่อุปทานสินค้าผักผลไม้กว่า 12 หน่วยงาน และกลุ่มสินค้าผักผลไม้ใน 6 ภูมิภาคของไทยโดยร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด กิจกรรมสาธิตปรุงอาหารและเครื่องดื่มจากผลไม้และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และกิจกรรมนิทรรศการผลไม้ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

“กรมจะเร่งผลักดันมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2567 เพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับเกษตรกรไทย และผู้ประกอบการไทย รวมทั้งประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับสินค้าผักและผลไม้ไทยว่ามีรสชาติดี มีเอกลักษณ์ มีคุณภาพ และได้มาตรฐานการส่งออกไปทั่วโลกต่อไป” นายภูสิตกล่าว

สำหรับการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป ในปี 2566 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นกว่าร้อยละ 14.6 จากปี 2565 และมีมูลค่า สูงกว่า 300,000 ล้านบาท เป็นผลมาจากความต้องการและราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการตรวจเข้มเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับสินค้าผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่น ๆ ของไทยเป็นที่ยอมรับในคุณภาพ ได้มาตรฐาน

และยังเป็นผลจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นการส่งออกของกรม ผ่านมาตรการบริหารจัดการผลไม้ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รองรับมาตรการกีดกันทางการค้า เน้นรักษาฐานตลาดเดิม พร้อมขยายโอกาสทางการค้าสู่ตลาดใหม่

พาณิชย์ เตรียมเปิดเจรจาซื้อ-ขาย ผลไม้