ทิศทางพลังงาน ปี’67 โอกาส-ความท้าทายการเปลี่ยนผ่าน

ทิศทางพลังงาน

งานเสวนาเรื่อง “ทิศทางพลังงานไทยปี 2567” ใน THAILAND ENERGY EXECUTIVE FORUM ซึ่ง สมาคมวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยาการพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านพลังาน

ประกอบด้วย ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ความต้องการใช้พลังงานฟื้น

ดร.ประเสริฐฉายภาพว่า ประเทศไทยกลับมาใช้พลังงานเพิ่มขึ้นหลังโควิด โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2566 ปริมาณ 187,774 กิกะวัตต์-กิโล และคาดว่าทั้งปี 2566 จะใช้ 200,000 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ล่าสุดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ปี 2566 ที่ 34,827 เมกะวัตต์ ถือเป็นจุดที่น่าสนใจว่าการใช้ไฟพีกนี้ เพราะค่าพีกเกิดขึ้นเวลา 21.41 น. (6 พ.ค.2566) จากเมื่อก่อนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 14.00-15.00 น. ส่วนการใช้น้ำมันถือว่ากลับมาในปริมาณเท่าปี 2562 เว้นน้ำมันเครื่องบิน ยังอยู่ในระดับ 80%

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้ไฟฟ้าสูงสุดเวลากลางคืน มีนัยสำคัญมาจากการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันนโยบาย 30@30 มีมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สูงเกือบ 5 เท่า มีการจดทะเบียน 100,219 คัน อาจสื่อได้ว่านิยมชาร์จอีวีกลางคืน และการติดแผงโซลาร์เพิ่มเฉลี่ยเดือนละกว่า 100 ราย ช่วยจ่ายไฟฟ้าในช่วงกลางวัน”

พลังงานรักษาสมดุล 3 ด้าน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญรัฐบาลต้องรักษาความสมดุลด้านราคา ความมั่นคง และพลังงานสะอาด โดยเฉพาะความมั่นคงด้านพลังงาน กระทรวงได้เร่งรัดให้แหล่งเอราวัณดึงก๊าซในอ่าวไทยตามสัญญา จาก 200 เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในวันที่ 1 เมษายนนี้ เพื่อลดการนำเข้า LNG ซึ่งเป็นแหล่งที่มีราคาสูง

สำหรับแนวโน้มด้านราคา LNG ในปีนี้คาดว่าจะเฉลี่ยที่ 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ลดลงจากปี 2566 ที่มีราคา 30-40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่ลดลงกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนช่วงปี 2564-2565 ที่เคยปรับขึ้นไป 80 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

ขณะที่การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนมีความจำเป็น เพราะปัจจุบันภาคพลังงานถือ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด 70% หรือประมาณ 260.77 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ จากภาพรวมทั้งประเทศที่ 372.72 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น หากไทยจะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ต้องหันมาใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ที่นำเข้าสินค้าไทยเรียกร้องเช่นกัน

สำหรับการดำเนินการในปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับซื้อพลังงานสะอาด 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มทยอยเข้าระบบ พร้อมทั้งกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariff โดยใช้ระบบการใช้ใบรับรอง REC เพื่อให้เอกชนนำไปใช้แสดงกับผู้นำเข้า ซึ่งผ่านการประชาพิจารณ์เรียบร้อย

ส่วนความคืบหน้าของร่างแผนพลังงานชาติ (NEP) ต้องบูรณาการทั้ง 5 แผนย่อย คือ ก๊าซ น้ำมัน พลังงานหมุนเวียน การประหยัดพลังงาน และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ซึ่งได้ปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากขึ้นถึง 70% ปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซออกไป และเพิ่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าไปในสมมุติฐานด้วยเตรียมจะประชาพิจารณ์ในไตรมาสแรกปี 2567

ปตท.ชี้ “แนวโน้มพลังงาน”

นายอรรถพล กล่าวว่า ผลจากเข้าร่วมประชุม World Economic Forum 2024 กลุ่มผู้นำภาคธุรกิจทั่วโลกได้สะท้อนความกังวลระยะสั้นช่วง 2 ปีนี้ เรื่องการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เช่น AI จะนำไปสู่การบิดเบือนข้อมูล เรื่องสิ่งแวดล้อม และภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ระยะยาวช่วง 10 ปีข้างหน้านั้น เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหลักเรื่องเดียวที่ทุกฝ่ายกังวลประเด็นนี้จะกระทบกับการใช้พลังงาน

“แนวโน้มพลังงานโลกนั้น การใช้ถ่านหินจะค่อย ๆ ลดลง ก๊าซธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพราะสะอาดที่สุด ส่วนน้ำมันมีโอกาสใช้สูงสุดในปี 2573 ขณะที่การพัฒนาพลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้น”

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

ในปีนี้แนวโน้มปริมาณการใช้น้ำมันอยู่ที่ 103 เพิ่มจากปี 2566 ที่ใช้ 101-102 ล้านบาร์เรลต่อวัน แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ปีนี้ เฉลี่ย 75-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 7-12 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ผลจากปัจจัยสำคัญภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจเงินเฟ้อ และสภาพสิ่งแวดล้อม

“สถานะของประเทศไทยยังเป็นผู้นำเข้าพลังงานทุกรูปแบบ ในภาคของความมั่นคงไทยมีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ท่อขนส่งก๊าซ ท่าเรือ LNG ทั้งยังมีความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ ทำให้ไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตมาได้ตลอด น้ำมันไม่ขาดแคลน”

แต่อีกด้านหนึ่งไทยจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคง โดยเฉพาะการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (OCA) โดยอาจนำโมเดลต้นแบบอย่างพื้นที่ไทย-มาเลเซีย (JDA) มาปรับใช้ เพื่อให้สามารถนำวัตถุดิบขึ้นมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการร่วมมาลงทุนกัน แบ่งผลประโยชน์ฝั่งละ 50% ประเทศไทยมีท่อก๊าซและโครงสร้างพื้นฐานใกล้ ๆ พื้นที่ทับซ้อนอยู่แล้ว การจะขุดเจาะและนำขึ้นมาใช้ก็ง่าย ส่งไปกัมพูชาสะดวก ในส่วนเรื่องการแบ่งดินแดนยังเป็นประเด็นที่ไม่น่าจะสรุปได้ เพราะที่ผ่านมาการหยิบยกประเด็นนี้มาเจรจามักจะถูกหาว่าขายชาติ หากพักจุดนี้จะช่วยให้บรรลุข้อสรุปได้

ปตท.ปรับแผนสู่ธุรกิจใหม่

ในส่วนของ ปตท. ได้ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ เป็น Powering lift with future energy and beyond : ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต ด้วยเงินลงทุน 600,000 กว่าล้านบาท ใน 5 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของเรา โดยมีเป้าหมายเพิ่มพลังงานทดแทนปัจจุบัน 4,000 เป็น 15,000 เมกะวัตต์ในปี 2030

ขณะเดียวกันก็มุ่งพัฒนาธุรกิจใหม่ 5 ธุรกิจ ได้แก่ 1.Life-science เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ 2.High Value Business ต่อยอดจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รองรับการขยายตัว Smart Electronic อีวี ที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3.Life Style ต่อยอดธุรกิจ อาทิ คาเฟ่อเมซอน 4.Logistics and Infrastructure โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ และ 5.AI Robotics and Digitalization

เอกชนขอค่าไฟแข่งขันได้

นายเกรียงไกรกล่าวถึงทิศทางพลังงานไทยปี 2567 ว่า ค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนของภาคเอกชนจะมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยปัจจุบันค่าไฟของไทย หน่วยละ 4.18 บาทต่อหน่วย อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง เวียดนาม 2.67 บาทต่อหน่วย แม้จะเคยเกิดไฟดับ แต่ล่าสุดเวียดนามได้วางโครงสร้างรับการเติบโตดังกล่าวแล้ว ทั้งยังมีอินโดนีเซีย 2.52 บาทต่อหน่วย และลาว 1.02 บาทต่อหน่วย

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

“ภาคเอกชนหวังว่าผลจากการเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณจะทำให้ค่าไฟรอบต่อไปปรับลดลงในระดับเหมาะสม ส่วนระยะยาวขอให้ภาครัฐออกมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไทย ทั้งการเปลี่ยนใช้เครื่องจักรมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนใช้พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาบุคลากร การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรม รวมถึงการยุกระดับสู่บีซีจี”

ตั้งรับมาตรการการค้า

“การปรับตัวให้สอดรับกับบริบทโลกที่กำลังเผชิญภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า การรุกล้ำทางเทคโนโลยี และภาวะโลกเดือด นับว่ามีความสำคัญ ไทยตั้งเป้าหมายสู่เน็ตซีโรปี 2065 ช้าที่สุดเมื่อเทียบกับทั่วโลก อยากให้ภาครัฐทบทวน เพราะเป้าหมายดังกล่าวส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย”

ในอนาคตทั่วโลกจะมีการใช้มาตรการเกี่ยวกับการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเต็มไปหมด อย่างล่าสุดสหภาพยุโรปได้เริ่มกำหนดให้ใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ปีที่ผ่านมา นำร่อง 5 สินค้า คือ เหล็ก ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย จะต้องรายงานการปล่อยคาร์บอน จากนั้นปี 2026 จะมีเพิ่มอีก นอกจากนี้ สหรัฐ แคนาดา จีน และทั่วโลก เตรียมจะมีมาตรฐานบังคับใช้ของตัวเองเช่นกัน ซึ่งในภาคการผลิตให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ส.อ.ท.ได้ดำเนินหลายมาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งการที่ธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะเติบโต 2.4% องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการค้าโลกเติบโต 0.8% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโตถึง 4.4% ถือเป็นระดับดี