ราคาสินค้าทะเลตกต่ำ เรือประมงพาณิชย์ไทยขาดทุนถึง 100,000 บาท

อาหารทะเล

ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ไทยกว่า 90,000 ลำทั่วประเทศ เจอปัญหาขาดทุนถึง 100,000 บาทต่อการเดินเรือแต่ละครั้ง เหตุจากต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าแรงขึ้น ราคาสินค้าทะเลตกต่ำ เกิดจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศถูกกว่ากดราคาในประเทศ วอนหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหา หวั่น 1-2 เดือน มีโอกาสหยุดเดินเรือมากขึ้น

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันเรือประมงพาณิชย์ในประเทศประเทศไทยมีประมาณ 90,000 ลำทั่วประเทศ ที่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีเรือที่ออกไปจับปลามีเพียง 50,000-60,000 ลำเท่านั้น จากอดีตที่มีมากกว่า 100,000 ลำ แต่ภายหลังเมื่อประเทศไทยมีการแก้ไขกฎระเบียบของเรือประมงเพื่อให้กับสอดคล้อง IUU ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์หายออกไปจากระบบ 10,000-20,000 ลำ

อาหารทะเล

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเรือประมงประสบปัญหาภาวะขาดทุนจากการเดินเรือคิดเป็น 50,000-100,000 บาทต่อครั้ง ผลกระทบนั้นเกิดจากราคาสินค้า สัตว์น้ำที่จับได้เมื่อนำมาขายไม่ได้ราคา ไม่คุ้มทุนจากที่ออกเรือไปในแต่ละครั้ง เพราะราคาสินค้า อาหารทะเล ปลา กุ้ง ภายในประเทศถูกลง ผลกระทบเกิดจากสินค้านำเข้าที่ราคาถูกกว่า ทำให้กดราคาภายในประเทศ

”เช่น ราคากุ้งมีความผันผวนมากก่อนเดินเรือราคา 200 บาทต่อกิโลกรัม พอหลังกลับมาราคาหายไปถึง 50 บาทต่อกิโลกรัม ปลาหมึก ราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคานำเข้า ราคาปลาป่นที่จะนำมาทำอาหารสัตว์ 7 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจากปีที่แล้วอยู่ที่ 10-11 บาท ต่อกิโลกรัม“

จากปัจจัยดังกล่าว ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ค่าแรง ค่าอุปกรณ์ในการจับสัตว์น้ำ โดยการออกเรือแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000-40,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเดินเรือและขนาดของเรือด้วย และปัจจุบันผู้ประกอบการเดินเรือก็หยุดเดินเรือเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากยังเกิดภาวะขาดทุน อย่างต่อเนื่องคาดว่าภายใน 1-2 เดือนจากนี้ จะมีผู้ประกอบการเรือประมงทยอยหยุดเดินเรือเพิ่ม โดยผู้ประกอบการเรือประมงคาดหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งแก้ไขปัญหาราคา

“การเดินเรือแต่ละครั้งใช้เวลา 7-10 วัน เมื่อจับปลากลับมาได้ และนำมาขายพบว่าขาดทุน เพราะราคาลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขายได้ ราคารับซื้อที่ถูกกดราคาลง เกิดจากราคาสินค้านำเข้าที่ถูกกว่า ราคาสินค้าภายในประเทศตกต่ำ หาไม่ถูกการแก้ไขปัญหาก็อาจจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการและราคาได้“

นำเข้าสินค้าทะเล

ปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการอาหารแปรรูป มีการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีต้นทุนการนำเข้าที่ถูก ภาษี 0% อยู่ภายใต้กรอบข้อตกลง FTA และ WTO การนำเข้ามีขั้นตอนหรือเอกสารเพียง 1 ชุด เพื่อสำแดงว่าสินค้าดังกล่าวมีการนำเข้าจากที่ใด ทำให้การนำเข้าสินค้ามีความง่ายและสะดวกและราคาถูก

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการนำเข้าจากประเทศที่สาม เช่น ตะวันออกกลาง เอกวาดอร์ บราซิล ซึ่งไม่ใช่ประเทศคู่ค้า แต่มีนำเข้าที่ไม่ได้เก็บภาษี ใช้ช่องว่างในการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าและส่งออก โดยส่งผลกระทบต่อราคาภายในประเทศ หากเปรียบเทียบราคาสินค้าภายในประเทศของผู้ประกอบการไทย ที่มีต้นทุนที่มากกว่าจากเงื่อนไขของ IUU

โดยความจริง เรือประมงภายในประเทศ 90% ไม่ได้ส่งออกสินค้าทะเลไปยุโรป ส่วนใหญ่ขายภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศเสียเปรียบจากต้นทุนที่สูงกว่า การใช้เอกสารเพื่อการตรวจสอบก็มีจำนวนมาก แม้ปัจจุบันจะมีการแก้ไขกฎระเบียบ ขั้นตอนด้านเอกสารให้ลดลง แต่ก็ก็ยังเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการเดินเรืออยู่

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังติดเรื่องของปัญหา IUU เช่น เมียนมาร์ติดใบแดง กัมพูชาติดใบแดง สปป.ลาว ติดใบเหลือง ส่วนประเทศไทยถูกต้องและได้รับการยอมรับจากประเทศผู้นำเข้า อย่างไรก็ดี ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำหากมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะไม่ได้มีการตรวจสอบย้อนหลัง แต่สำหรับประเทศไทยจะมีการตรวจสอบย้อนหลังหากไม่ถูกต้องก็จะมีปัญหาในด้านของการส่งออก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเรียกร้องและต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ถูกแก้ไข แต่รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญมากขึ้น เบื้องต้นก็มีข้อเสนอ ให้มีการคิดค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตนำเข้า พร้อมทั้งสนับสนุนราคาภายในประเทศให้ผู้ประกอบการอยู่ได้