ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศกรมประมง สัตว์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด 2567

ประกาศราชกิจจา-ราชกิจจานุเบกษา

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมประมง สัตว์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด พ.ศ. 2567 ระบุกุ้งขาว (Penaeus vannamei) และกุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon) ประเภทมีชีวิตเพื่อการเพาะพันธุ์ เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่กรมประมงตรวจรับรองแหล่งผลิตสัตว์ ณ ประเทศแหล่งกำเนิดสัตว์ หรือซากสัตว์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศกรมประมง เรื่อง สัตว์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด พ.ศ. 2567 โดยมีนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นผู้ลงนาม

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ตามที่ข้อ 6 ของประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง การขออนุญาต การออกใบอนุญาต วิธีการนำเข้าส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ที่อยู่ในการควบคุมดูแลของกรมประมง พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ได้กำหนดให้ผู้ขออนุญาตนำเข้าสัตว์หรือซากสัตว์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดต้องจัดให้มีการเชิญเจ้าหน้าที่กรมประมงเพื่อเดินทางไปตรวจรับรองแหล่งผลิตสัตว์หรือซากสัตว์ดังกล่าว ณ ประเทศแหล่งกำเนิดสัตว์หรือซากสัตว์นั้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมโรคระบาดจากสัตว์ที่มาจากการนำเข้าเพื่อการเพาะพันธุ์และเป็นไป
ตามนัยข้อ 6 ของประกาศกรมปศุสัตว์ดังกล่าว อธิบดีกรมประมงจึงออกประกาศกำหนดสัตว์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมประมง เรื่อง สัตว์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด พ.ศ. 2567”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ข้อ 3 กำหนดให้กุ้งขาว (Penaeus vannamei) และกุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon) ประเภทมีชีวิตเพื่อการเพาะพันธุ์ เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ดังต่อไปนี้ (ดูรายชื่อโรคในประกาศกรมประมงท้ายข่าว)

ประกาศกรมประมง